การดำเนินงานของ Grameen Bank ที่สร้างความสามารถในการให้บริการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนจนในบังคลาเทศตามการบริการแบบ Micro-credit และ Free-Collateral Banking ที่ Prof. Muhammad Yunus และ Grameen Bank ได้พัฒนากระบวนการจากการทำงานแบบกลุ่ม ที่เรียกว่า “กลุ่มพึ่งพาตนเอง” (Self-Help Group: SHG) การเกื้อกูล และความสัมพันธ์ตามสายใยของชุมชนเพื่อนบ้าน ให้เป็นองค์ประกอบร่วมของการทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ข้อคิด และข้อแนะนำการใช้จ่ายเงินจากการกู้ยืมจากธนาคารไปเพื่อการต่าง ๆ ทั้งใช้จ่ายตามความจำเป็นของครัวเรือน และการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ที่มีการคำนึงถึงความสามารถของตนเอง และรอบระยะเวลาการชำระคืน (ต่อหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นงวดของการผ่อนขำระ) อันเป็นการนำเอากระบวนการทางสังคม (Social process) มาร่วมสร้างเป็นกลไกแทนการค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์เช่นเดียวกับกลไกการกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ผลการดำเนินงานของ Micro-credit และ Free-Collateral Banking ของ Grameen Bank ที่ได้ริเริ่มเป็นโครงการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 นั้น ได้เป็นผลงานสำคัญที่ทำให้ Prof. Muhammad Yunus และ Grameen Bank ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี ค.ศ. 2006 จากการศึกษาของ World Bank พบว่า ผลงานดังกล่าวได้ทำให้อัตราความยากจนของบังคลาเทศ ในระหว่างปี ค.ศ. 1991-1999 ลดลงไป 40% (Khandaker, 2005) ได้ทำให้คนจนในบังคลาเทศใช้เป็นเครื่องมือนำทางปลดปล่อยตัวเองไปจากวงจรของความยากจนและการผลิดซ้ำของระบบเศรษฐกิจและสังคมเดิม (Sathi, 2016) มีกลุ่ม SHG ที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่และเข้าถึงบริการของแหล่งทุนของ Grameen Bank จำนวน 144,106 Center ครอบคลุมพื้นที่ 83,458 หมู่บ้าน หรือ 94% ของพื้นที่หมู่บ้านทั่วประเทศ (ตัวเลขปี 2016 (Sathi, 2016) การดำเนินงานของ Grameen Bank ยังได้ค้นพบความสามารถของผู้หญิงในการดูแลครอบครัวและการใช้จ่ายเพื่อการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้กู้ยืมเพื่อการต่าง ๆ ของ Grameen Bank เป็นผู้หญิงมากถึง 97% ของการกู้ยืม ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กู้ยืม และ SHG ต่างเป็นผู้ถือหุ้นของ Grameen Bank มากถึง 97% ส่วนที่เหลือ 3% ของรัฐบาล
การดำเนินงาน Grameen Bank ประสิทธิภาพ และความสารถของ Micro-credit ที่ได้สร้างผลสำเร็จให้กับการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาขนคนยากจนของบังคลาเทศตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ถือได้ว่า เป็นความสำเร็จที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกลไกสถาบันทางสังคมขั้นใหม่ขึ้นมาเป็นเครื่องมือของการทำงานไปพร้อมกันด้วย และเป็นกลไกที่สร้างขึ้นจากกระบวนการทำงานภาคสังคมหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้ก็เพราะว่า Grameen Bank และ และ Free-Collateral Banking มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาจากการดำเนินงานพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโครงการแบบกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจิตตะกอง ที่เรียกว่า Three Share Farm ที่หมู่บ้าน Zobra (การสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรรวมตัวกันเป็นการลงทุนด้วยแรงงาน เป็นทุนส่วนที่หนึ่ง ทำการผลิตบนที่ดินของเจ้าที่ดิน ที่นำเอาที่ดินมาร่วมลงทุน เป็นทุนส่วนที่สอง โดยมีเงินทุนและการบริหารจัดการของนักศึกษา เป็นทุนส่วนที่สาม เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วมีรายได้เกิดขึ้น ก็แบ่งปันกันสามส่วนตามหลักของการร่วมทุน) ไปสู่โครงการลงทุนประกอบการอาชีพเล็กๆน้อยในชุมชนที่สร้างรายได้และสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าการพึ่งรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ที่ขึ้นอยู่กับรอบระยะเวลาการผลิต เช่น การจัดทำโต๊ะไม้ไผ่ มานั่ง/เก้าอี้ไม่ไผ่ และร้านค้าชุมชน ฯลฯ ที่ Prof. Muhammad Yunus ทดลองให้มีการกู้ยืมจากเงินของตนเองสำหรับชาวบ้านจำนวน 42 ราย ในวงเงิน 27 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าวได้รับชำระคืนตามกำหนดเวลา และสามารถไปแทนที่การกู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้ดอกเบี้ยสูงจากนายทุนเงินกู้เอกชนได้
ผลจากการทดลองดังกล่าวทำให้ Prof. Muhammad Yunus ได้รับวงเงินกู้จากธนาคารของรัฐที่ชื่อ Janata Bank ที่ปล่อยกู้ให้ชาวบ้านที่ต้องการกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพตามโครงการ โดยมี Prof. Muhammad Yunus เป็นผู้กู้ร่วม/ค้ำประกัน ตามเงื่อนไขของการกู้ยืมเงินของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป ต่อมาในปี ค.ศ. 1979 Krishi Bank ธนาคารพาณิชย์ของรัฐอีกแห่งหนึ่งที่เป็นธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรได้เข้ามาร่วมการดำเนินงาน โดยเป็นโครงการเงินกู้ที่เป็น Free-Collateral Banking ที่ให้ความสำคัญต่อ Microcredit ที่กลุ่มได้สร้างขึ้นโดยตรง แต่ให้ปรับเปลี่ยนสถานภาพของ Prof. Muhammad Yunus และทีมงาน มาเป็นพนักงานในโครงการของธนาคาร และเรียกโครงการนี้ว่า Grameen Bank Project พร้อมขยายการให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอ (มากกว่าหมู่บ้านที่ Zobra)
Grameen Bank Project ได้นำเอาผลงานและความสำเร็จภายใต้การสนับสนุนของ Krishi Bank ที่หมู่บ้าน Zobra ไปขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลและธนาคารกลางของบังคลาเทศ เพื่อขยายบริการให้มากขึ้นไปอีก และได้รับอนุมัติให้ขยายบริการออกไป 3 เมือง คือ Tangail district, Feni district, Munshignj district เพื่อเตรียมการและพัฒนาความสำเร็จขยายไปให้ครอบคลุมทั้งประเทศในระยะถัดไป ความสำเร็จของการดำเนินงานและการขยายตัวเป็นลำดับข้างต้น เป็นผลงานสำคัญที่ทำให้ Grameen Bank Project ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางให้จัดตั้งเป็น Grameen Bank ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารในปี ค.ศ. 1983 เป็นผลงานที่ทำให้ธนาคารและผู้ริเริ่มโครงการ คือ Prof. Muhammad Yunus ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น รวมทั้งได้ขยายบริการได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ (94 %) และเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของบังคลาเทศ
จากประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการความสำเร็จตามผลงานของ Grameen Bank ข้างต้น จะเห็นได้ว่า เป็นผลของการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน และเคลื่อนตัวออกไปจากระดับชุมชนที่ฐานราก จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในระดับหมู่บ้านไปสู่พื้นที่กว้างใหญ่ที่เป็นเอง (ตำบลหรืออำเภอ) และจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่งและหลายเมือง แล้วกระจายออกไปจนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อันเป็นผลของการทำงานที่เป็นไปแบบกระจายความสำเร็จออกไปจากศูนย์กลางหรือต้นแบบ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของ Grameen Bank ที่ทำงานเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาตามบทบาทของนักพัฒนาเป็นกลไกสำคัญ ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่แบบ routine ตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ของธนาคาร
บรรณานุกรม:
Shahidur R. Khandker. (2005). Microfinance and Poverty: Evidence Using Panel Data from Bangladesh. Retrieve from https://documents1.worldbank.org/curated/en/284801468013215718/pdf/774910JRN020050ofinance0and0Poverty.pdf
Sathi, S. (2016). Grameen Bank the struggle of Muhammad Yunus. Dhaka, Bangladesh: Adorn Publication.
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม [Social Innovation Research and development Institute. (SIRDI)]
วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต