1. Ted Fund กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund: TED Fund)
ที่อยู่ : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เลขที่ 75/47 อาคารพระจอมเกล้า (ห้อง 308) ถ.พระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
เป็นกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยลดภาวะความเสี่ยงด้านการลงทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีทั้ง TED Youth Startup (ยุววิสาหกิจ) ที่เป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษา และสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป โดยมีหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ “โครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม” หรือ “TED Market Scaling Up” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
รายละเอียด : สมทบบางส่วน สูงสุด 90% วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51, ต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิตหรือให้บริการที่ออกสู่ตลาดและมียอดขายแล้ว นอกจากนี้เป็นโครงการที่มีแผนการอยากขยายตลาดทั้งใน/ต่างประเทศ
2. iTap โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and technology assistance program : ITAP) ที่อยู่: 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง คลองหลวง ปทุมธานี 12120
เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีภารกิจหลัก คือ เพื่อสร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) โดยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ Industry 4.0
รายละเอียด : สนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงสุด 50% ของโครงการ แต่ไม่เกิน 400,000 บาทต่อโครงการ (ตามเกณฑ์การสนับสนุนของโปรแกรม ITAP) โดยผู้รับทุนต้องเป็น SMEs ตามนิยาม สสว.
3. บพข. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ที่อยู่: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
เป็น 1 ใน 3 หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใน สอวช. เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน โดย บพข. เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ ไปจนถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์
รายละเอียด : การให้ทุนมีหลายประเภท ทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันศึกษา สถาบันวิจัย สำหรับผู้ประกอบการจะมีทั้งแบบการให้ทุนร่วม (Co-sponsor) ภายใต้ MOU ผู้ให้ทุน ได้แก่ บพข. ลง in cash (เงินสด) บางส่วน และบริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุน ร่วมทุนไม่น้อยกว่า 50% และแบบทุนเอกชน โดยผู้ให้ทุน คือ บพข. ลง in cash (เงินสด) บางส่วน (จะไม่มีบริษัทเอกชนร่วมให้ทุนด้วย) โดยผู้รับทุน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการต้องออกทุนร่วม ไม่น้อยกว่า 25% แบ่งเป็น Cash (เงินสด) ไม่น้อยกว่า 10% และKind (ส่วนสนับสนุนอื่นที่ไม่ใช่เงินสด) ไม่น้อยกว่า 15%
4. NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ และทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม
รายละเอียด : การสนับสนุนด้านการเงินของ NIA เป็นการสนับสนุนในรูปแบบของ “เงินทุน” โดยเป็นทุนให้เปล่า (Grant) ไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุน
5. สอวช. หรือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ที่อยู่: 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนไทย โดยมีมาตรการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ, มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการในการทำวิจัยร่วมกัน โดยเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการของประเทศ สามารถตอบสนองต่อการสร้างความรู้ใหม่ ยกระดับนวัตกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ แก้ปัญหาเชิงเทคนิค ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยี หรือมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
รายละเอียด : ผู้ให้ทุน (สอวช.) มีอำนาจในการพิจารณาให้ทุน 5 ประเภท ได้แก่ 1.ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าทั้งหมด (Grant) 2.ทุนอุดหนุนแบบให้เปล่าบางส่วน (Matching Grant) 3.ทุนอุดหนุนแบบกำหนดเงื่อนไขการใช้คืน (Recoverable Grant) 4.ทุนอุดหนุนเป็นเงินให้กู้ยืมแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระคืน (Loans) และ 5.ทุนอุดหนุนแบบอื่นตามที่ผู้ให้ทุนกำหนด ขึ้นอยู่กับข้อเสนอโครงการที่ยื่นขอรับทุน และผู้ให้ทุนอาจพิจารณาให้ทุนตามข้อเสนอโครงการทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ตามเห็นสมควร