บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด

by sirdi
0 comments

ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด
ที่มา: Winonafeminine, 2025.

 

ความเป็นมา

          บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ในปี พ.ศ. 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพื่อสุขภาพสตรี Feminine Care Products ผลิตภัณฑ์ของบริษัท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เช่น สบู่ สเปรย์ ทิชชู่เปียก กลุ่มรักษาจุดซ่อนเร้นที่เป็นยา และกลุ่มเสริมสวยงาม เช่น เจลหล่อลื่น กำจัดขน เป็นกิจการที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่ทำจากหญ้ารีแพร์ และจุลินทรีย์มีชีวิตสายพันธุ์ไทย (Probiotics) ที่บริษัทผลิตขึ้นในไทยเป็นสายพันธุ์แรก เป็น Probiotics Lactibasilus Paracasei Msmc 39-1 เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ เพื่อมาทำอาหารเสริมแก้ปัญหาผู้หญิงในวัยช่องคลอดแห้งที่อาจส่งผลต่อปัญหาครอบครัว

          บริษัทยังสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและสุพรรณบุรี เพื่อไปให้ความรู้กับผู้หญิงในระดับชุมชน ที่มีปัญหาเชื้อราในช่องคลอด เพื่อให้ดูแลช่องคลอดอย่างถูกวิธี ใช้ยาที่ถูกต้อง และทราบถึงอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

การดำเนินกิจการ

          เป็นธุรกิจที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Probiotics คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับทุนจาก NIA ในการผลิต Probiotics Wet Wipe (ทิชชู่เปียก Probiotics สำหรับเช็ดช่องคลอด) การจัดหาวัตถุดิบ ก็มีการรับซื้อหญ้ารีแพร์จากชุมชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 5 แสนกิโลกรัม/ปีโดยประมาณ (หญ้ารีแพร์สด กิโลกรัมละ 100 บาท อบแห้ง กิโลกรัมละ 300 บาท) แล้วนำมาสกัดเอง เพื่อเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน จากชุมชนทั้งในรูปแบบรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครนายก ในหลาย ๆ ตำบล เช่น ตำบลบ้านใหญ่ ตำบลหินตั้ง ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง และจากชุมชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

          ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้รับมาตรฐานและรางวัล ได้แก่ มาตรฐานอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานเครื่องสำอางจาก Lab ต่าง ๆ เพื่อการส่งออก เช่น DSMC ILLA SGS DERMSCAN อนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาครอบคลุมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กระชับช่องคลอด ที่ทำจากหญ้ารีแพร์ เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เครื่องสำอางไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม รางวัลสมุนไพรไทยพรีเมี่ยม โดยกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศของ SMEs ที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

 

ผลความสำเร็จ

          บริษัทมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก 6,281,032.04 บาท ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 70,567,712.81 บาท ในปี พ.ศ. 2566 (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, 2568) นอกจากนี้ ยังมีการจัดสร้างโรงงาน การจ้างงาน และการจัดซื้อวัสดุสมุนไพรจากชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

 

ปี พ.ศ. รายได้รวม (บาท) กำไร(ขาดทุน) สุทธิ (บาท)
พ.ศ. 2563 6,281,032.04 325,253.13
พ.ศ. 2564 17,319,680.05 358,127.36
พ.ศ. 2565 20,173,865.97 230,461.65
พ.ศ. 2566 70,567,712.81 247,783.22

 

Lesson-learned

          กรณีศึกษาของวิโนนา เฟมินิน เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่สร้างขึ้นจากตัวแบบธุรกิจ (Business Model) ที่เป็นการแปรผลงานการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์) ไปสู่การปฏิบัติจริง และต้องพึ่งพาความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคที่จำเป็นต้องปรับตัวตามไปด้วย กล่าวคือ ความรู้เข้าใจที่มีต่อคุณสมบัติของ Probiotics ที่ต้องอาศัยส่วนผสมที่สำคัญของวัสดุ/พืชท้องถิ่นสำหรับการผลิตเวชสำอางเพื่อสุขภาพสตรี เช่น สบู่ สเปรย์ ทิชชู่เปียก ยา เจลหล่อลื่น และเจลกำจัดขน ฯลฯ

          ความสำเร็จของวิโนนา เฟมินิน เป็นกรณีศึกษาที่เหมาะสมสำหรับ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม สุขภาพ และสุขภาพของจุดซ่อนเร้น (ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ของการตลาดและการสื่อสารประชาสัมพันธ์) แต่ด้วยการตั้งอยู่บนพื้นฐานของการจัดการความรู้ จึงทำให้การจัดการและการสื่อสารของธุรกิจ (ประเด็นรอยต่อของการแปรผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ) สามารถดำเนินงานไปได้และประสบความสำเร็จ

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (19 พฤษภาคม 2568). บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด เรื่อง
งบแสดงฐานะการเงิน ข้อมูลปีงบการเงิน 2563 – 2567
. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/MZzAsjGMDGpO3htr8ZhUK83QiDjq8cx9vVZOkgPJegmnVpy25PEIRn8LJD4Y6eE4

สุนทร คุณชัยมัง, ธัชกร ธิติลักษณ์, นัชชา เทียมพิทักษ์, และ ฉัตรวัญ องคสิงห. (2566). การศึกษาเรื่องปัจจัย และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย (น. 162-163). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.

Winonafeminine. (2025). Winona Feminine (official). https://www.winonafeminine.com/th

 

 

 

 

Related Posts

Leave a Comment