วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน
ที่มา: วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน, 2568.

 

ความเป็นมา

          กลุ่มชุมชนชีววิถี ได้พัฒนากลุ่ม/องค์กรมาจากการรวมตัวเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด การทำลายป่า การปลูกข้าวโพดบนที่สูง และผลพวงของการสร้างกลุ่มชุมชนตามแนวคิดว่าด้วย บวรส. (บ้าน วัด โรงเรียน และสถานีอนามัย) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ต่อมีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ในปี พ.ศ. 2550 โดยสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 79 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 700 คน จาก 200 ครัวเรือน เพื่อนำเอาวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นน้ำยาอเนกประสงค์ เวชสำอางสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพร ปี 2566 ได้มีสมาชิกจาก 5 หมู่บ้าน กว่า 750 คน รวม 250 หลังคาเรือน (TheCoverage, 2566)

 

การดำเนินงาน
          วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน เติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัดของจังหวัดน่านผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนงานก่อสร้างอาคารสำหรับรองรับการผลิต/แปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตที่เรียกว่า Good Manufacturing Practice: GMP รวมทั้งมาตรฐานอาหารและยา รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐานรางวัล OTOP 5 ดาว และมาตรฐาน Bio Economy จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ) ซึ่งงานมาตรฐานที่ได้รับการรับรองเหล่านั้น ได้กลายเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจในลำดับต่อมา

          การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านของน้ำเกี๋ยน ที่มาจากพืช ผัก และใบไม้ในชุมชน เช่น ผักเชียงดา มะกรูด ดอกอัญชัน ข่า และใบหมี่ ฯลฯ ได้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นเวชสำอาง เครื่องดื่ม และของใช้ในครัวเรือน มากถึง 35 รายการ เช่น โลชั่นบำรุงผิว ครีมนวดผม สบู่เหลว แชมพู ชา และน้ำยาล้างจาน ฯลฯ โดยวิสาหกิจมีการบริหารงานด้านการตลาดหลายรูปแบบ เช่น การรับจ้างผลิตแบบ OEM ตลาดโมเดิร์นเทรด ตลาดแบบดั้งเดิมที่วางจำหน่ายตามร้านค้าและงานแสดงสินค้า และตลาดออนไลน์ โดยข้อมูลในปี 2564 ตลาดแบบ OEM มีสัดส่วน 50% ของรายได้จากการขาย นอกจากการแปรรูปสมุนไพรแล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายและรวมกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร แล้วพัฒนากิจกรรมรองรับการศึกษาดูงาน เพิ่มบริการที่พักโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มบริการรถราง ฯลฯ

          กล่าวโดยสรุป ก็คือ วิสาหกิจมีการประกอบการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีการจ้างงานสำหรับโรงงานแปรรูป มีการจัดตั้งเครือข่ายสมาชิกผู้ปลูก มีการขยายกิจกรรมไปสู่การรองรับการศึกษาดูงาน และบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ ในด้านการตลาด ก็จัดให้มีงานรับจ้างการผลิตคิดเป็น 50% ของยอดขาย สัดส่วนรองลงไป เป็นการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด มีการจัดตั้งบริษัท ชีววิถี เฮิร์บ จำกัด เพื่อทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ชีวา (Chewa) และชีวานา (Chewana) ทั้งในและต่างประเทศ การจัดการอย่างเป็นระบบนี้ เป็นผลมาจากการเรียนรู้และการบริหารจัดการหรือการนำของประธาน คือ อาจารย์ชูศิลป์ สารรัตนะ (อดีตข้าราชการครู) และผู้จัดการ คือ คุณศิรินันท์ สารมณฐี (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำเกี๋ยน) และคณะกรรมการวิสาหกิจ

 

ผลความสำเร็จ

          วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน ได้สร้างแบรนด์สินค้าที่ชื่อว่า Chewa พร้อมทั้งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ชีววิถี เฮิร์บ จำกัด ผลประกอบการของบริษัทดังกล่าว ในปี 2566 บริษัทมีรายได้ 5,165, 810.18 บาท ในขณะที่รายได้ของวิสาหกิจในปี 2567 พบว่า มีรายได้จากการประกอบการที่มีการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน/ตำบลน้ำเกี๋ยน ทั้งสิ้น 50 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2563 แล้วเพิ่มขึ้น 100% หรือ 1 เท่าตัว

          การแปรรูปสมุนไพรเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เครื่องดื่ม และ Consumer Product ของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน สรุปได้ว่า (1) เป็นการผลิตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ของชุมชนที่ต่างไปจากการทำนา-ไร่สวน ที่ขายผลผลิตทางการเกษตร เป็นรายได้ต่อฤดูกาลหรือต่อปี และ (2) การแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เป็นเวชสำอาง และเครื่องดื่มสุขภาพ เป็นงานที่มีมาตรฐานและการตลาดสมัยใหม่ที่ชุมชนไม่เคยดำเนินงานหรือมีการเชื่อมโยงกันมาก่อน (มูลนิธิสัมมาชีพ, 2565)

 

Lesson-learned

          Key success factors ของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน คือ ความเป็นวัตถุดิบสมุนไพร การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตำแหน่งทางการตลาดที่มีราคา โดยเฉพาะเวชสำอาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับความนิยมทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ไม่ใช่ยาลม ยาดม ยาหม่อง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Mass Products ที่มีราคาถูก การมีมาตรฐานรับรอง การสร้างแบรนด์ และการจัดระบบสัดส่วนการตลาดที่มั่นคง

          กลไกการดำเนินงานที่นำไปสู่การสร้างความสำเร็จของการประกอบการธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน มาจากส่วนผสมของ “กลไกขับเคลื่อนธุรกิจ” ที่ประกอบไปด้วย (1) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมาตรฐานรับรอง-เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่บ่งชี้ถึงการประสานกับผู้ซื้อหรือกลไกการตลาด (2) การประสานขอรับการสนับสนุนจากรัฐ-อาคารการผลิต อันเป็นการสะท้อนถึงความสามารถของผู้นำและการนำ (3) การสร้างส่วนผสมทางการตลาดที่มีความมั่นคงจากตลาด OEM และตลาดโมเดิร์นเทรด อันเป็นส่วนผสมเบื้องต้นของการดำเนินธุรกิจและการเข้าสู่ระบบตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ควรนำไปพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง ทั้งในตัวอย่างของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และรายได้ใหม่ของชุมชน

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

มูลนิธิสัมมาชีพ, มหาวิทยาลัยรังสิต, และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. (2565, 11 กรกฎาคม). รางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” [Paper presentation]. เวทีถอดบทเรียนวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ เพื่อถ่ายทอดโมเดลสู่ชุมชน และสังคม, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย.

วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน. (2568). เกี่ยวกับเรา. https://www.chewavethee.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2/613723224f79c90014f21eb3

สุนทร คุณชัยมัง, ธัชกร ธิติลักษณ์, นัชชา เทียมพิทักษ์, และ ฉัตรวัญ องคสิงห. (2566). การศึกษาเรื่องปัจจัย และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย (น. 52-53). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.

TheCoverage. (26 มกราคม 2566). PMAC พาตัวแทนทั่วโลกลงพื้นที่ จ.น่าน เยี่ยมชมการอนุรักษ์ เชื่อมโยงสุขภาพ ยกระดับรายได้ชุมชนผ่านสมุนไพร. https://www.thecoverage.info/news/content/4480

 

 

Related Posts

Leave a Comment