บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด

 

ความเป็นมา

          วัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) ก่อตั้งโดยคุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ และคุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ในปี พ.ศ. 2563 เป็นสตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา AI โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัพแห่งนี้เป็นผู้พิการ 100% เป็นธุรกิจที่สร้างอาชีพ (มาตรา 35 ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ด้วยการดึงศักยภาพคนพิการ และออกแบบระบบการทำงานสำหรับคนพิการโดยเฉพาะการเป็น “AI Trainer” มืออาชีพ อันเป็นการแก้ปัญหาการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐในระยะยาว พร้อมกับสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนพิการที่สร้างรายได้ตลอดชีวิตด้วยการพึ่งตนเอง

          จากข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า จำนวนคนพิการในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 2,211,105 คน คิดเป็นร้อยละ 3.35 ของประชากรทั้งหมด คนพิการวัยทำงาน อายุระหว่าง 15-59 ปี อยู่ที่ 811,350 คน คิดเป็นร้อยละ 36.69 ประกอบอาชีพ 195,434 คน (24.09%) การจ้างงานคนพิการในสถานประกอบ จำนวน 1,489 คน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ 3,631 คน (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2568)

 

การดำเนินกิจการ

          บริษัทจัดให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาทักษะคนพิการให้สามารถร่วมทำงานพัฒนา เทคโนโลยี เป็น AI Trainer และ Software Developer สำหรับการรองรับการจัดเรียงข้อมูล (Data-Labeling) และบริการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: Ai) ที่คนพิการทางสายตา ทางการได้ยิน ทางการเคลื่อนไหว และทางสติปัญญาสามารถร่วมสร้างสรรค์ บริษัทได้จัดจ้างบุคลากรเพื่อพัฒนา AI และแอปพลิเคชันต่าง ๆ จำนวน 200 คน มีองค์กรพันธมิตร 60 แห่ง และมีผู้พิการเข้าร่วมงาน 600 คน

          บริการของวัลแคนที่มีให้บริการในปัจจุบัน มีอยู่ 3 บริการ คือ (1) Vulcan Platform เป็น AI Solution ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงโซลูชัน AI ที่ทันสมัยโดยไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ บริการนี้ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโมเดล AI ไปจนถึงการจัดการและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นบริการสำหรับธุรกิจทั่วไป (2) AI Social Listener เป็นระบบบริการที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, X (Twitter) และ TikTok โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์สำหรับธุรกิจเพื่อจัดการชื่อเสียงแบรนด์ หรือเป็นแดชบอร์ดที่ปรับแต่งได้สำหรับการติดตามแนวโน้มและความคิดเห็นของผู้ใช้ (3) MayWe เป็นระบบคัดกรองความเครียดและภาวะซึมเศร้าด้วยเทคโนโลยี AI ที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว และให้ข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจสภาพจิตใจของตนเอง พร้อมรับการสนับสนุนและคำแนะนำที่เหมาะสม เช่น อินเตอร์เฟซที่ใช้งานง่ายสำหรับการคัดกรองสุขภาพจิต การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI เพื่อให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำแบบเรียลไทม์ และการให้คำแนะนำและข้อมูลการสนับสนุนหลังการคัดกรอง (Vulcan Coalition Company Limited, 2025)

          วัลแคน ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขานวัตกรรมประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม “7 Innovation Awards 2023” (ปี พ.ศ. 2566) ที่มีจุดประสงค์สนับสนุนนวัตกรรม SMEs ไทยสร้างพลังเปลี่ยนโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมไทยอย่างยั่งยืน จัดขึ้นโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน (กรุงเทพธุรกิจ, 2566)

          ลูกค้าผู้ใช้บริการของวัลแคน มีทั้งธนาคาร แผนกบุคคลของหลายองค์กร และบริษัทรีเทลของแต่งบ้าน โดยการสร้างเอไอแชตบอต และกระบวนการการทำงานที่ใช้เอไอเป็นผู้ช่วย ทั้งนี้ ประมาณ 30% ของรายได้จากบริการเอไอของบริษัทจะถูกแบ่งให้กับพนักงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว วัลแคน ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการสร้างงานที่ดึงศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการออกมา เพื่อให้คนพิการมีรายได้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน โดยการทำงานจะเกี่ยวข้องกับคน 3 กลุ่ม คือคนพิการ อุตสาหกรรมเอไอ และองค์กรธุรกิจ จุดแข็งของวัลแคน คือ การสร้างกิจการให้เป็น Ecosystem สำหรับคนพิการ เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อการเข้าถึงงานสำหรับทุกคน ทำให้คนพิการสามารถทำงานได้ทั่วประเทศโดยไม่มีต้นทุนเรื่องการเดินทาง (กรุงเทพธุรกิจ, 2566) การพัฒนางานตามบริการต่าง ๆ ของบริษัท ได้ทำให้คนพิการมีอาชีพ มีงาน และมีรายได้ เฉลี่ย 9,250 บาทต่อเดือนต่อคน (ทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน)

 

ผลความสำเร็จ

          ในปี 2564 บริษัทมีรายได้ 3,973,968.76 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 7,765,783.94 บาท ในปี พ.ศ. 2565 และ 10,788,370.84 บาท ในปี พ.ศ. 2566 และยังอยู่ในห้วงเวลาของการขาดทุน 5.3 ล้านบาท (ปี 2566)  (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, 2568) อันเป็นสภาวะการขาดทุนในช่วงเริ่มต้นของกิจการซึ่งเป็นกิจสตาร์ทอัพ

 

Lesson-learned

          กรณีศึกษาของวัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) ข้างต้น เป็นตัวอย่างของการประกอบเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ประเภทที่นำเอาคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือมาร่วมงานเป็นคนงานหรือผู้รับจ้างงาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Work Integration Social Enterprise (WISE) ซึ่งเป็นตัวแบบที่เหมาะสมการจ้างงานกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ระบบแรงงานโดยปกติ เช่น คนพิการ นักโทษ/ผู้ต้องขัง หรือผู้ว่างงานระยะยาว ซึ่งโดยปกติจะต้องมีการจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะ และฟื้นฟูศักยภาพหรือสมรรถนะก่อน

          เป็นตัวอย่างของการจัดการธุรกิจดิจิทัลเพื่อสังคม ซี่งเป็นรูปแบบของโครงสร้างธุรกิจที่ล้ำหน้าไปกว่าธุรกิจดิจิทัลเพื่อการค้าหรือธุรกิจทั่วไป กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลที่มีเป้าหมายร่วมที่จะแก้ปัญหาสังคมควบคู่กันไปด้วย

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

         

Reference

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (19 พฤษภาคม 2568). บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด เรื่อง งบกำไรขาดทุน ข้อมูลปีงบการเงิน ปี 2564 – 2566. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/aRAsoQjKECPGDpkb3BcSqw
TUXQhT7j8ne0cbhd4XybCBC3GSLlSgJN0EleEjav-e

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (31 มกราคม 2568). สถานการณ์คนพิการในประเทศไทย. https://dep.go.th/images/uploads/files/31012568.pdf

กรุงเทพธุรกิจ. (6 กันยายน 2566). ‘วัลแคน’ แพลตฟอร์มสร้างงานให้ผู้พิการ เทรนนิ่งเอไอใช้กับธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1087227

สุนทร คุณชัยมัง, ธัชกร ธิติลักษณ์, นัชชา เทียมพิทักษ์, และ ฉัตรวัญ องคสิงห. (2566). การศึกษาเรื่องปัจจัย และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย (น. 148-149). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.

Vulcan Coalition Company Limited. (May 1, 2025). Vulcan Coalition. https://vulcancoalition.com/

 

Related Posts

Leave a Comment