บริษัท สยามเอเบิ้ลอินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 การดำเนินกิจการของบริษัท สยามเอเบิ้ลอินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
ที่มา: ศุภากร บุรินทร์ชาติ, 2567

 

          บริษัท สยามเอเบิ้ลอินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด (Siam Able Innovation SE) จัดตั้งเมื่อ 11 เมษายน 2562 ทุนจดทะเบียน 2,350,000 บาท จดทะเบียนเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE ตามกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2563 (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม, 2563) โดยการริเริ่มของคุณคุณคำรณ มะนาวหวาน วิศวกร ผู้ซึ่งประสบอุบัติเหตุและกลายเป็นผู้พิการ สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 106/1 หมู่ที่ 7 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี 72120 บริษัทมีการจ้างงานคนพิการเพื่อร่วมงานในองค์กร จำนวน 25 คน เพื่อเป็นผู้ผลิต ออกแบบ พัฒนา และจัดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้ด้อยสมรรถภาพทางร่างกายที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านอุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ หรือรวมเรียกว่า “ผู้ด้อยสมรรถภาพทางร่างกาย” สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เฉกเช่นปัจเจกชนทั่วไป เพื่อส่งมอบคุณค่าจากการแก้ปัญหาการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้ด้อยสมรรถภาพทางร่างกายได้อย่างตรงจุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้งาน ลดภาระผู้ดูแลผู้ด้อยสมรรถภาพทางร่างกาย ด้วยคุณค่าของสินค้าและบริการที่องค์กรมอบให้

          ประเด็นสำคัญของผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จะประสบปัญหาเบื้องต้นจากอุปกรณ์ราคาแพง รถวีลแชร์ไฟฟ้าธรรมดา รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการมีราคาที่สูง แต่สวนทางกับสถานะของผู้ใช้ที่มักจะเป็นรายได้น้อย ความสามารถในการหารายได้ก็มีต่ำ สินค้าราคาถูกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศกลับไม่มีคุณภาพ พังง่าย

 

Products and Solutions (บริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด, 2568)

ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท

  1. งานผลิตสร้างวีลแชร์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละราย (Fit in-made to order)
  2. งานปรับปรุงดัดแปลงจากวีลแชร์คนเข็นเป็นวีลแชร์ไฟฟ้า
  3. งานซ่อมทั่วไป
  4. ชุดฝึกสอนฝึกอบรม ระบบรถวีลแชร์ไฟฟ้า
  5. Smart Farmer: การประยุกต์ใช้ EV Battery กับโดรนเพื่อการเกษตร
  6. ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสำนักงาน
  7. ปั๊มชักสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่เพื่อการเกษตร
  8. ไฟฟ้าแสงสว่างสนามกีฬาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
  9. ไพโรไลซิสแปลงขยะพลาสติกเป็นน้ำมันด้วยพลังงานไฟฟ้า ดำเนินการที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
  10. การประยุกต์ใช้ EV Battery ทดแทนแบตเตอรี่แบบเก่าสำหรับรถโฟร์คลิฟต์ไฟฟ้า

 

Technology Solution/Innovative Feature

          สยามเอเบิ้ลวีลแชร์ ได้พัฒนาต้นแบบวีลแชร์ปรับอริยาบทนั่ง-ยืน-เอนนอน ปรับระดับความสูงเบาะนั่งและที่วางแขนตามสรีระของผู้ใช้งาน หรือเรียกเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “วีลแชร์ไฟฟ้าปรับทุกอริยาบท” โมเดล “SAIM AI-24” เป็นวีลแชร์ไฟฟ้าหนึ่งเดียวในโลกที่ปรับขนาดของวีลแชร์ให้เหมาะสมกับข้อมูลทางสรีระของผู้พิการในภูมิภาคแต่ละราย (Personalization at Scale) ประกอบกับการควบคุมการใช้งานที่ง่ายดายทำให้ไม่ต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือในระหว่างการใช้งานวีลแชร์คันนี้ เพราะในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้พิการทางการเคลื่อนที่จำเป็นต้องใช้วีลแชร์เป็นเวลาโดยเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน การปรับอริยาบทได้ในหลากหลายท่าทางนั้น ทำให้ผู้ใช้งานลดปัญหาการเกิดโรคที่เกิดจากการนั่งเป็นเวลานาน

ภาพประกอบที่ 2 วีลแชร์ไฟฟ้า
ที่มา: ศุภากร บุรินทร์ชาติ, 2567

 

          การพัฒนาในรายละเอียดของการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีคุณสมบัติเด่นสำหรับการรองรับการใช้งานทั้งในและนอกอาคาร การปรับระดับความสูงเบาะนั่งและที่วางแขนให้เหมาะสมต่อกิจกรรมของผู้ใช้งาน การรองรับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม การเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัยในทุกอิริยาบทและการได้รับมาตรฐานการรับรอง เช่น Thai FDA อุปกรณ์ทางการแพทย์ IEEE 60601-1 และ TIS 2570-2555

 

ผลการประกอบการ

          รายได้ของบริษัท ในปัจจุบันมาจาก (1) การขายสินค้าผลิตภัณฑ์ (2) การให้บริการดัดแปลง และซ่อมบำรุง (3) การสอน อบรม สร้างอาชีพให้ผู้พิการและการจ้างงาน (มาตรา 35) มีรายได้ปีล่าสุด ปี พ.ศ. 2567 ทั้งสิ้น 2,721,674.12 ล้านบาท (ขาดทุน 636,697.39)

 

ปี พ.ศ. รายได้รวม (บาท) กำไร(ขาดทุน) สุทธิ (บาท)
พ.ศ. 2563 262,600.00 142,257.68
พ.ศ. 2564 2,218,901.29 759,093.24
พ.ศ. 2565 2,154,158.12 445,893.16
พ.ศ. 2566 1,490,525.62 238,516.99
พ.ศ. 2567 2,721,674.12 -636,697.39

(กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, 2568)

 

Lesson-learned

          กิจการของสยามเอเบิลอินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นกิจการที่ริเริ่มขึ้นโดยผู้พิการ และมีการจ้างงานคนพิการ ที่ต้องการแก้ปัญหาของคนพิการโดยตรง ที่เป็นตัวอย่างทั้งการใช้ความรู้และความสามารถที่มีอยู่ดำเนินกิจการได้เช่นคนปกติทั่วไป อันเป็นการแสดงถึงความเท่าเทียมทางสังคมหรือความเสมอภาค (Equality) และเป็นตัวอย่างของการประกอบเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ประเภทที่นำเอาคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือมาร่วมงานเป็นคนงานหรือผู้รับจ้างงาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Work Integration Social Enterprise (WISE)

          นอกจากนี้ กรณีศึกษาของสยามเอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ยังจัดเป็นการดำเนินงานที่เป็นไปตามกรอบ Social Innovation ตามกลุ่มทฤษฎีว่าด้วยการเสริมสร้างพลังความเข้มแข็งและการนับรวมทางสังคม (Empowerment and Inclusion) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นภาระให้เป็นพลังร่วมในการพัฒนา และยังสอดคล้องกับแนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคม (Structural change) ซึ่งเป็นแนวคิดอีกกลุ่มในทางทฤษฎีที่เห็นว่า มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการยอมรับทางสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เห็นคนพิการเป็นปัญหา ไปสู่การสามารถพัฒนาความสามารถที่มีอยู่และใช้ความสามารถนั้นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (21 พฤษภาคม 2568). บริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เรื่อง งบกำไรขาดทุน ข้อมูลปีงบการเงิน ปี 2563 – 2567. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/_LfafsaqU9ZdvdB81QLpZQQJ2HRL0rfFxsq03KIqhbiyY3pfiYV_cz3ULFuo_ar5

บริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด. (21 พฤษภาคม 2568). Our products and solutions. https://siamable.com/

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม. (3 มกราคม 2563). ประกาศรายชื่อกิจการที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม. https://www.sethailand.org/resource/registered-se/

ศุภากร บุรินทร์ชาติ. (13 มิถุนายน 2567). การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้วยนวัตกรรม กรณีศึกษา บริษัท สยาม เอเบิ้ล อินโนเวชั่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด [Paper presentation]. งานอบรมการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Development), ปทุมธานี, ประเทศไทย.

 

 

Related Posts

Leave a Comment