ความเป็นมา
กรณีศึกษา เรื่องการสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชุมชนด้วยธุรกิจสุราชุมชนที่ตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่ เป็นการศึกษาจากข้อมูล 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) จากข้อมูลเอกสาร บทความ และงานวิทยานิพนธ์ (2) การศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเรื่องการยกระดับรายได้และคุณภาพคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าในระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2566 (3) รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน: กรณีศึกษาจังหวัดแพร่ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งเป็นการศึกษาในหัวข้อสุราชุมชนกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยของหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูงรุ่นที่ 24 (ปปร. 24) พร้อมกับแนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุนทางสังคม-ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ BCG Model
สุรากลั่นชุมชนจากจังหวัดแพร่ มีที่มาจากการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 200 ปี ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัตถุดิบสำหรับการผลิต ทั้งวัตถุดิบตั้งต้น เช่น ข้าว แหล่งน้ำจากลำน้ำหล่มด้ง อันอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมายจากแหล่งน้ำที่เกิดจากการยุบตัวของภูเขาไฟที่ดับแล้ว และยังมีการพัฒนาขั้นตอนการผลิตสมัยใหม่สำหรับกระบวนการหมักที่คำนวณระยะเวลาเป็นอย่างดี ขั้นตอน กระบวนการหมัก การกลั่น การควบคุมรสชาติ และคุณภาพการผลิตเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่ทำให้ “สุราชุมชนจากแพร่ รสชาติดีเทียบเท่าสุราชั้นดีของต่างประเทศ”
เรื่องสุราชุมชนมีประเด็นที่เป็นข้อจำกัดต่อการพิจารณา 2 เรื่อง คือ (1) เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สมควรที่จะมีเสรีในการผลิตเพื่อบริโภคหรือการจำหน่าย และ (2) มีประเด็นด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการผลิตและการจำหน่ายที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในชุมชน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลทำให้เกิดการผูกขาดการผลิตและการขายสุราให้เอกชนโดยรัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้จากเอกชนในฐานะผู้รับสัมปทาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีการผลิตสุรามากขึ้น และทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีบริหารงานสุรา พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 3) อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสุราแช่ชุมชนอย่างเสรี และประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง วิธีบริหารงานสุราพ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นชุมชนอย่างเสรี โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ กำหนดเงื่อนไขที่ง่ายขึ้นสำหรับสุราชุมชนทำให้ ปี พ.ศ. 2544-2548 โดยผู้ผลิตที่จะได้รับอนุญาตต้องเป็นสหกรณ์นิติบุคคล วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกร สถานที่ผลิตจะต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด เช่น จะต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะและแยกออกจากที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้จำนวนคนงานน้อยกว่า 7 คน
จากผลการศึกษารายได้จากการจำหน่ายสุราชุมชน พบว่า การสำรวจข้อมูลในรายการของหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายสูงสุด 5 รายการของจังหวัดแพร่พบว่า สุราชุมชน มียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 295.5 ล้านบาท เป็นรายการสูงสุดของรายการข้อมูลที่สำรวจ (สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2565) แต่จากการสำรวจข้อมูลจากการชำระภาษีสุราชุมชนที่ตำบลสะเอียบ จ่ายให้กับสรรพสามิตจังหวัดแพร่ในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 พบว่ามีค่าเฉลี่ยที่ 446 ล้านบาทต่อปี หากนำตัวเลขภาษีสุราข้างต้นไปคำนวณหามูลค่าโดยรวมของธุรกิจนี้ ก็เปรียบเทียบจากภาษีดังกล่าวจะมีค่าเท่ากับ 20% ของราคาโดยประมาณ ดังนั้น ธุรกิจสุราชุมชนที่ชุมชนด้วยธุรกิจสุราชุมชนของแพร่ (ที่โดยส่วนใหญ่ผลิตที่ตำบลสะเอียบ) ได้สร้างรายได้ให้กับจังหวัดแพร่ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,230 ล้านบาท
ภาพประกอบที่ 1 ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนสะเอียบ
ที่มา: Facebook, 2563.
Lesson-learned
บทเรียนสำคัญของความสำเร็จของสุราสะเอียบ คือ ผลของการดำเนินงานของการนำเอาทุนทางปัญญาท้องถิ่น (และทุนทางสังคม) มารวมจัดการเข้ากับการพัฒนาเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ ทำให้การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนประสบความสำเร็จทางการตลาด ฝ่าข้อจำกัดในการควบคุมของภาครัฐ (และการแข่งขันทางการตลาดกับสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อื่น ๆ) และการแข่งขันจากธุรกิจเอกชน
ภาพประกอบที่ 2 การต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของธุรกิจสุราชุมชนที่ตำบลสะเอียบ
ที่มา: สุนทร คุณชัยมัง, 2566
การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์ชุมชนของสะเอียบ เป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิสาหกิจครัวเรือนที่มารวมตัวกันแบบเครือข่ายจัดการคุณภาพและสร้างแนวปฏิบัติร่วมกัน หรือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการเป็นผู้ผลิตและต่อสู่กับการแข่งขันทางการตลาด (รวมทั้งการกีดกันโดยรัฐ) ร่วมกัน ไม่ใช่รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชน
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
สุนทร คุณชัยมัง. (2566). การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยธุรกิจสุราชุมชนตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่. ใน 7 กลุ่มชุมชน พ้นจน ยั่งยืน ข้อค้นพบใหม่การแก้จนลดเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (น. 40-44). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.
Facebook. (19 สิงหาคม 2563). สุรากลั่นชุมชนสะเอียบ. https://www.facebook.com/phrae.tv/photos/a.660395853978407/4684136878270931/?type=3