ข้อมูลเบื้องต้น
ประเภทธุรกิจ ผลิตและขายกล้วยหอม แบรนด์กล้วยหอมทอง Banana King
ที่อยู่ 55/12 หมู่ 4 ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12150
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง 27 มิถุนายน 2554
ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท
จำนวนพนักงาน 50-100 คน
การริเริ่มธุรกิจและการตลาด
บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2554 โดยคุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ และ คุณเสาวณี วิเลปะนะ เป็นเกษตรกรทำสวนส้มขายมาก่อน แต่ทั้งคู่มองว่า ปัญหาของการทำสวนส้มนั้นคือ โรคระบาด จนสร้างความเสียหายให้กับสวนส้มอยู่เสมอ ทั้งคู่เลยหันมาปลูกผักสวนครัว รวมถึงกล้วยหอม และพบว่ากล้วยหอมนั้น มีผลตอบรับที่ดีจึงเชื่อว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จ จึงเริ่มตัดสินใจที่จะปลูกกล้วยหอมอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ แล้วค่อยขยายพื้นที่มากขึ้น จนถึงกว่า 4,000 ไร่ และมีเครือข่ายเกษตรกรอีก 1,000 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตราด กาญจนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยภูมิ กำแพงเพชร เพชรบุรี ในปัจจุบัน คิง ฟรุทส์ ทำสัญญารับซื้อกล้วยหอมจากเกษตรกรในเครือข่ายตามหลักของ Contract Farming โดยบริษัทเป็นฝ่ายส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน หวีละ 40 บาท (พ.ศ. 2563) มีผลผลิตป้อนตลาด ประมาณ 6,000 ตันต่อปี (Kingfruits, n.d.)
การจัดการทางการตลาด บริษัทเริ่มจากการขายในตลาดสี่มุมเมือง แล้วขยายไปยังตลาดไท แล้วได้รับโอกาสให้ไปขายในห้างค้าส่งอย่าง MAKRO แล้วขยายไปยังโมเดิร์นเทรดอื่น ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งเข้าสู่พื้นที่ทางการตลาดสำหรับผู้ใช้วัตถุดิบโดยตรง เช่น ครัวกลางของสายการบินต่าง ๆ รวมไปถึงโรงงานที่ใช้กล้วยหอมเป็นวัตถุดิบในการทำขนม ก็ยังเป็นลูกค้าของกล้วยหอมคิง ฟรุทส์ เช่นกัน (Line Today, 2563
ปัจจุบัน คิง ฟรุทส์ มีรายได้ตามสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าในตลาดโมเดิร์นเทรดเป็นส่วนใหญ่ (แต่ยังคงพื้นที่ของตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไทไว้อยู่) มาจากร้านสะดวกซื้อ 40% (ส่งขายให้ 7-11 วันละกว่า 60,000 แพ็ค) ห้างสรรพสินค้า 30% ครัวของสายการบิน 20% โรงงานเบเกอรี่ 10% ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 สินค้าเกษตรหลายชนิดประสบปัญหาด้านการตลาด ยอดขายลด แต่กล้วยหอมทองของ คิง ฟรุทส์ กลับเติบโตสวนกระแส ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่ตลาดออนไลน์ที่รวมไปกับฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ผ่านแอปพลิเคชัน บริษัทได้พัฒนาตลาดในพื้นที่ออนไลน์โดยได้เซ็นสัญญากับแกร็บฟู้ด (Grab Food) โดยเน้นขายผลไม้ประเภทกล้วยหอมทอง (หวี) ส้มโอ แอปเปิ้ล ฯลฯ
บริษัทได้จัดงบลงทุนกว่า 80 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 สร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับแปรรูปตัดแต่งผลไม้ เนื้อที่ 3 ไร่ ตั้งอยู่ในโครงการบิ๊กเกอร์ แลนด์ ลำลูกกา คลอง 9 จังหวัดปทุมธานี เน้นผลิตผลไม้เกรดพรีเมี่ยมพร้อมทาน เช่น ฝรั่งกิมจู ขนุนทองประเสริฐ แอปเปิ้ล ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ฯลฯ ให้กับร้านสะดวกซื้อ 7-11 ภายใต้การพัฒนางานมาตรฐานทั้ง GLOBAL GAP และมาตรฐาน GMP และ HACCP
การพัฒนาผลิตภัณฑ์
(1) ผงกล้วยหอมทอง พัฒนาจากการแปรรูปกล้วยดิบเป็นผงบรรจุซองสำหรับใช้ชง เพื่อเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และใช้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
(2) บราวนี่สำเร็จรูป (Brownie Mix) จากแป้งกล้วยหอมทอง เปิดตัวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 ในงานแสดงสินค้า THAIFEX WORLD OF FOOD ASIA 2020 ที่ตอบโจทย์คนเมืองรุ่นใหม่ ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัลจากการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารปทุมธานี 2019
(3) จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกล้วยหอมทองกับกล้วยคาแวนดิช ของฟิลิปปินส์และคอสตาริกา พบว่า มีรสชาติความอร่อยแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทจะใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้พัฒนาเพื่อการส่งออก เช่น การส่งออกไปยังเกาหลีใต้ด้วยการแช่เย็น (Frozen) เพื่อไปแทนที่ตลาดกล้วยคาแวนดิชจากประเทศเวียดนาม
การพัฒนาการจัดหาวัตถุดิบ
บริษัทได้ริเริ่มโมเดล “คิง ฟรุทส์” เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิต คือ เกษตรกรเครือข่าย ที่เริ่มต้นทำธุรกิจกับบริษัทตั้งแต่ 3 คน จนพัฒนาเป็นกลุ่มเกษตรกร แล้วยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกกว่า 100 คน มีการส่งต่ออาชีพไปยังทายาท รุ่น 2 ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่หันกลับมาช่วยพ่อแม่ทำเกษตรเพื่อทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ทำให้การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่การดำเนินงานตามแนวทางนี้ ยังมีประเด็นการจัดการที่จะต้องพัฒนาร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน บริษัทจึงได้ยุติการพัฒนางานจัดหาวัตถุดิบตามแนวทางนี้ไว้ก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และบริษัทได้หันกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานตามแนวทางของการส่งเสริมและซื้อขายผ่าน Contract Farming โดยยึดมั่นต่อยุทธศาสตร์แบบการสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจคู่สังคม (Creating Shared Value: CSV)
ผลการประกอบการ
ปี พ.ศ. | รายได้รวม (บาท) | กำไร(ขาดทุน) สุทธิ (บาท) |
พ.ศ. 2561 | 149,705,456.34 | 4,530,831.82 |
พ.ศ. 2562 | 135,278,045.42 | 2,340,294.18 |
พ.ศ. 2563 | 157,544,285.76 | 1,468,402.67 |
พ.ศ. 2564 | 231,500,020.47 | 4,013,335.32 |
พ.ศ. 2565 | 219,083,908.42 | 5,232,226.49 |
พ.ศ. 2566 | 228,113,527.50 | 2,762,026.32 |
พ.ศ. 2567 | 296,477,792.42 | 5,370,225.59 |
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, 2568.
Lesson Learned
การดำเนินธุรกิจของบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนากิจการมาจากเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยแล้วเป็นผู้จัดจำหน่ายในตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท และพัฒนาเข้าสู่การเป็น SMEs ที่รวบรวมผลผลิตกล้วยหอมทอง และผลไม้ตกแต่งพร้อมทานเข้าสู่ระบบการตลาดโมเดิร์นเทรด
เป็นกรณีศึกษาของ SMEs ที่ต้องจัดระบบบริหารจัดการทั้งด้านวัตถุดิบ ทั้งปริมาณผลผลิต และมาตรฐานการเกษตร ในขณะเดียวกันในด้านการตลาดก็ต้องสร้างความมั่นคงของยอดขายและรายได้จากทั้งโมเดิร์นเทรด สายการบิน โรงแรม โรงงานเบเกอรี่ และการขายผ่าน Application-Food Delivery โดยที่บริษัทมีนโยบายที่กำลังปรับตัวเข้าสู่การแปรรูปวัตถุดิบจากกล้วยและผลไม้เป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (29 พฤษภาคม 2568). บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด เรื่อง งบกำไรขาดทุน ข้อมูลปีงบการเงิน 2561 – 2567. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/6qFw-FM7jM-3rOyagXY-S1wSbR_899JcpKB_q-DLaGn3IKZ4umLxwoHGGg7y_mof
Kingfruits. (n.d.). เกี่ยวกับเรา. http://kingfruits.co.th/about-kingfruit/
Line Today. (8 เมษายน 2563). คิงฟรุทส์ตั้งเป้า 200 ล้าน รุกทำเครื่องดื่มผงกล้วย. https://today.line.me/th/v3/article/2l2WM6