Aravind Eye Care System

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 Dr.Govindappa Venkataswamy ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานของ Aravind Eye Hospitals
ที่มา: Researchgate, 2022.

          Aravind Hospital เป็นโรงพยาบาลตา ที่ก่อตั้งและเริ่มให้บริการที่มลรัฐ Madurai รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ในปี ค.ศ. 1976 โดยจักษุแพทย์ชื่อ Govindappa Venkataswamy (เกิดในปี 1918-เสียชีวิตในปี 2006) หรือชื่อย่อที่รู้จักกันดีว่า Dr. V. ซึ่งเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของเมือง Madurai เรียนจบมัธยมศึกษาและปริญญาตรีด้านการแพทย์ที่ Madras University ในปี ค.ศ. 1944 Dr. V. ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดจาก Gandhi ที่ใช้การเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับอังกฤษจนนำอินเดียให้ได้รับสู่เอกราช และเพื่อให้ได้รับโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะเป็นนายแพทย์ Dr. V. จึงเข้าร่วมงานกับกิจการเสนารักษ์ของกองทัพ (Indian Army Medical Corp) ในปี ค.ศ. 1945 และได้ปลดประจำการในปี ค.ศ. 1948 เพราะป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์(Rheumatoid Arthritis) เมื่ออาการของเขาได้รับการรักษาแล้ว ต่อมาเขาได้อบรมผ่าตัดต้อกระจกตา พร้อมเรียนรู้การใช้งาน Microscope เพื่อช่วยเป็นอุปกรณ์ในการผ่าตัด Dr. V. เกษียณจากการทำงานในตำแหน่งคณบดีของคณะจักษุแพทย์ของวิทยาลัยการแพทย์ที่ the Government Madurai Medical College และหัวหน้างานผ่าตัดตาของ the Government Erskine Hospital, Madurai หลังจากเกษียณจากงานแล้ว Dr. V. พร้อมน้องสาวและสามีของน้องสาว ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นแพทย์ จึงได้เริ่มจัดตั้งองค์กรเอกชนแบบไม่แสวงหากำไร (Non-profit Corporation) ซึ่งก็คือ the Aravind Eye Hospital เพื่อรักษาโรคตาโดยตรง เป็นโรงพยาบาลขนาด 11 เตียง รักษาด้วยงานคุณภาพและเก็บค่ารักษาตามสมควร (Rangan, 1993; Aravind, n.d.a)

          กิจการของโรงพยาบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30 เตียงในปี 1977 และ 70 เตียงในปี 1978 พร้อมกับให้บริการผ่าตัดตา-ฟรีสำหรับคนจน พร้อมกับลงทุนสร้างห้องปลอดเชื้อ 4 ห้อง สำหรับลูกค้าที่พร้อมจ่ายตามราคาปกติของตลาดทั่วไป พร้อมกับขยายการบริการและพื้นที่ของโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลขนาด 250 เตียง ในปี 1981 และ 350 เตียงในปี 1984 เพื่อรองรับการบริการทั้งการผ่าตัด ห้องผ่าตัด และคลินิกรักษาด้านการติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อ พร้อมกับจัดตั้งคลินิกเกี่ยวกับตาที่ครบวงจรที่ให้บริการรักษาจอประสาทตา โรคที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อวุ้นตา ต้อกระจก ต้อหิน ตาเอียง/ตาเหล่ ภาวะแทรกซ้อนที่มาจากโรคเบาหวาน และกุมารแพทย์เกี่ยวกับตาสำหรับการรักษาเด็กโดยตรง โดยที่การบริการที่ขยายตัวเหล่านี้ เป็นการรับผิดชอบโดยสมาชิกในครอบครัวของ Dr. V. ซึ่งได้รับการอบรมจากสถาบันการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ทำให้โรงพยาบาลมีความพร้อมด้วยอุปกรณ์ เทคโนโลยี และความทันสมัยด้วยบุคลากร 240 คน ประกอบด้วยแพทย์ 30 คน พยาบาล 120 คน ฝ่ายบริหารบุคคล 60 คน และแม่บ้าน 30 คน (Rangan, 1993)

 

สถานการณ์โรคตาของอินเดีย

          สถานการณ์โรคตาบอดของโลกตามข้อมูลปี 1992 พบว่า มีจำนวน 30 ล้านคนในจำนวนนี้ 20 ล้านคน หรือ ⅔ อยู่ในทวีปเอเชีย และเป็นปัญหาที่มีนัยต่อความเป็นอยู่ของประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นประเทศที่ผู้มีปัญหาอาศัยอยู่มากถึง 75% มีความเกี่ยวข้องกับโรคชนิดต่าง ๆ ของต้อกระจก (Cataracts) ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และมีความเกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย (และผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป) เฉพาะที่อินเดียปรากฎว่ามีผู้ป่วยเกือบ 20 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นคนตาบอดข้างเดียว 12 ล้านคน โดยที่มีสาเหตุมาจากต้อกระจกมากถึง 75-80% ของผู้ป่วย ในขณะที่รายได้ของชาวอินเดีย มีรายได้เฉลี่ยเพียง 275 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี ในจำนวนนี้มากกว่า 70% มีรายได้เฉลี่ยที่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) ที่กำหนดไว้ขณะนั้น 100 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี ทั้งอินเดียมีจักษุแพทย์ 8,000 คน สามารถรักษาคนไข้ที่รักษาตาเป็นต้อกระจกได้เพียง 1.2 ล้านคนต่อปี (ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจักษุแพทย์ 16,000 คนต่อประชากร 250 ล้านคน) ที่อินเดียมีโรงพยาบาลโรคตาทั้งประเทศ 42,000 เตียง และ ⅔ ของโรงพยาบาลเหล่านี้อยู่ในพื้นที่เมือง ในขณะที่ประชาชนอาศัยอยู่ในเมืองเพียง ⅓ รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบประมาณเพื่อรับผิดชอบต่อโรคทางสายตาและป้องกันเรื่องตาบอดปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ World Bank ประมาณการว่า จะต้องมีการลงทุนสำหรับการบริหารจัดการในเรื่องนี้ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสัดส่วนของการรักษาโรคต้อกระจกจะแบ่งเป็น 30% จะรักษาฟรีโดยงบประมาณของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น 30% รักษาฟรีโดยงบประมาณของ NGOs และอีก 40% รักษาโดยโรงพยาบาลเอกชนโดยมีค่าใช้จ่ายตามอัตราบริการทั่วไป (Rangan, 1993)

 

บทบาทของ Aravind Eye

          บริการของ Aravind Eye จะเป็นไปตามแนวคิดว่าด้วยการให้บริการที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกเหมือนกับบริการของร้านแมคโดนัลด์ จัดบริการ Eye Camp เป็นกิจกรรมแพทย์เคลื่อนที่ที่ให้บริการความรู้เรื่องโรคสายตา และการดูแลรักษา เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานร่วมกับชุมชน/ผู้นำชุมชน/ผู้ท้องถิ่น ให้มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของงานร่วมกัน เพื่อคัดกรองปัญหาสายตาแล้วให้คำแนะนำรักษาโรคต้อกระจก หากรายใดมีอาการรุนแรงก็จะนำมาผ่าตัดฟรีที่โรงพยาบาลและส่งกลับบ้าน พร้อมกันนั้น ก็จัดให้มี Vision Centre เป็นศูนย์บริการในพื้นที่ห่างไกลและมีการประสานการตรวจ/รักษาผ่านทาง Telemedicine มีการพัฒนาการบริการของโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีตามที่กล่าวถึงในหัวข้อก่อนนี้ และพัฒนาประสิทธิภาพการผ่าตัดให้ทำได้ 6-8 รายต่อชั่วโมง ในขณะที่อัตราทั่วไปจะทำได้เพียง 1 รายต่อชั่วโมง เพื่อให้เป็นการจัดการที่มี Economy of Scale ที่สามารถมีรายได้ที่ได้รับไปบริการสำหรับผู้ป่วยที่ยากจนที่ใช้บริการฟรี ทำให้โรงพยาบาลสามารถจัดบริการคนไข้เป็น 3 ประเภท คือ (1) คนไข้ที่จ่ายค่ารักษาในอัตราทั่วไป (2) คนที่รักษาแบบราคาถูก (3) คนไข้ที่บริการฟรี โดยตัวเลขระบุว่า 60% ของผู้ใช้บริการที่ Aravind Eye เป็นประเภท 2+3 นั่นแสดงว่า ราคาของคนไข้ประเภทที่ 1 เพียงพอที่จะช่วยดูแลคนไข้ประเภทที่ 3 และบางส่วนของคนไข้ประเภทที่ 2 นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางให้เลือกที่จะจ่ายค่ารักษาด้วยวิธีใดก็ได้ ตั้งแต่ฟรี จ่ายบางส่วน หรือจ่ายเต็มจำนวน พร้อมทั้งยังมีการคัดเลือกและฝึกสตรีในท้องถิ่นที่ต้องการที่จะเป็นนักเทคนิคในการผลิตเลนส์ที่ใช้ในการผ่าตัด ทำให้เลนส์มีราคาถูกลง 90% อีกกรณีหนึ่งด้วย (ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563)

          ปัจจุบัน (2025) Aravind Eye Hospital ได้พัฒนาเป็นกิจการสำหรับระบบการรักษาตา (Aravind Eye Care System) ที่มีกิจการให้บริการแบบหลากหลาย (Conglomerate) ประกอบไปด้วย Eye Care Services, Education and Training, Research, Consultancy and Capacity Building, Ophthalmic Supplies and Equipment มีโรงพยาบาลในเครือ 14 แห่ง มีศูนย์บริการคนไข้สายตา 7 แห่ง และมีสถานบริการเบื้องต้นสำหรับสายตา 114 แห่งในอินเดียตอนใต้ (Aravind, n.d.a) ข้อมูล ณ ปี 2020 โดยเป็นบริการที่ให้บริการประชาชนอินเดียที่มีโรคเกี่ยวกับตาไปแล้ว 65.5 ล้านคน เป็นการผ่าตัดต้อกระจกไปทั้งสิ้น 7.8 ล้านคน (Srinivasan, 2020)

ภาพประกอบที่ 2 Aravind Eye Care System
ที่มา: aravind, n.d.b

 

Lesson-learned

          Aravind Eye Hospital เป็น “การประกอบการเพื่อสังคม” (Social Entrepreneurship) ในรูปแบบของกิจการเอกชน-ที่ไม่แสวงหากำไรสำหรับการแบ่งปัน แต่มุ่งการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้านสุขภาพ-สาธารณสุขเกี่ยวกับตาของคนอินเดีย คนจน คนที่มีรายได้น้อยอย่างเจาะจง เป็นตัวอย่างของกิจการ/ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีพื้นฐานจากธุรกิจครัวเรือน-ตามแนวคิดที่พื้นฐานอิงความเชื่อศาสนาที่มีต่อการอุทิศตัวต่อสังคมและแนวคิดของมหาตมะ คานธี อันเป็นแบบแผนของชีวิตของโลกตะวันออก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็น Social Entrepreneurship ที่ขับเคลื่อนด้วย Mission-driven Enterprise เพื่อการแก้ปัญหาของสังคม (ไม่ใช่ตามกฎหมายกำหนดให้ทำ หรือต้องรอให้มีการรับรองคุณลักษณะขององค์กรหรือการดำเนินงานตามมาตรฐานของหน่วยงานใด ๆ) อันเป็นการนิยามความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม-การประกอบการเพื่อสังคมของ J. Gregory Dees (Dees, และตามการจัดแบ่งกลุ่มของ Jacque Defourny & Marthe Nyssens (Defourny & Nyssens, 2010)

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

Aravind. (n.d.a). Our Story. https://aravind.org/our-story/

Aravind. (n.d.b). Aravind Today. https://aravind.org/our-story/

Dees, J.G. (1998). The Meaning of “Social Entrepreneurship”. https://web.stanford.edu/class/e145/2007_fall/materials/dees_SE.pdf

Defourny, J. & Nyssens, M. (2012). “Conceptions of Social Enterprise in Europe: A   Comparative Perspective with the United States,” Palgrave Macmillan Books, in: Benjamin Gidron & Yeheskel Hasenfeld (ed.), Social Enterprises, chapter 3, pp. 71-90, Palgrave Macmillan.

Rangan, V.K. (1993). The Aravind Eye Hospital, Madurai, India: In Service for Sight. Harvard

Business School. N9-593-098, June 7, 1993.

Researchgate. (2022). Dr. Govindappa Venkataswamy: Veni Vidi Vici. http://dx.doi.org/10.4103/ijo.IJO_805_22

Srinivasan, A. (2020). A Thought Leadership Paper on Sight to the world: How Aravind improves access to care for millions ‘Transforming the system of care’. Siemens Healthineers AG, Issue 13. https://marketing.webassets.siemens-healthineers.com/
1800000007508241/246fa201adb2/siemens-healthineers_Insights_Series_13_Sight_
to_the_world.pdf

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (14 ตุลาคม 2563). Eye-opening Hospital: Aravind Hospital เมื่อโรงพยาบาลตาสัญชาติอินเดียแก้ปัญหาเรื่องโรคตาด้วยวิธีคิดใหม่แบบร้านฟาสต์ฟู้ด จนกลายเป็น Best Practice ให้โรงพยาบาลทั่วโลก. https://readthecloud.co/aravind-hospital/

 

Related Posts

Leave a Comment