ภาพประกอบที่ 1 ธุรกิจไม้ขุดล้อม ตำบลชะอม จังหวัดสระบุรี
ที่มา: facebook, 2565.
ความเป็นมา
การประกอบอาชีพไม้ขุดล้อมเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นธุรกิจชุมชนแบบวิสาหกิจครัวเรือน หรือการประกอบการแบบรายย่อย (Small Business) โดยในแต่ละรายจะมีการปลูกต้นไม้หลายชนิดตามความต้องการของตลาด เช่น มะฮอกกานี อินทนิล ปีป ประดู่ ทองกวาวพญาสัตบรรณตีนเป็ดน้ำ ประดู่แดง ราชพฤกษ์ จำปี เหลืองปรีดียาธร หางนกยูงฝรั่งและปาล์ม คำว่า “ไม้ขุดล้อม” หมายถึง ต้นไม้ที่ถูกปรับตำแหน่งที่ตั้งจากที่เดิมที่เคยเจริญเติบโตไปยังที่แห่งใหม่ ด้วยวิธีการขุด ตัดราก มีการห่อหุ้มระบบรากตัดแต่งใบ กิ่ง ตามความจำเป็นเพื่อให้ต้นไม้นั้นสามารถเจริญงอกงามต่อไปได้ (เกษม มารบูราพา, 2555 อ้างในวิเชียร พุทธศรี, 2561) ไม้ขุดล้อมจัดเป็นแขนงหนึ่งของธุรกิจไม้ประดับ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้สำหรับการปรับภูมิทัศน์ของสถานที่ และกิจกรรมการจัดงานในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เฉพาะการส่งออกในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท (วิเชียร พุทธศรี, 2561) เฉพาะไม้ขุดล้อมที่มีการสั่งซื้อจากตำบลชะอมในช่วงปี พ.ศ. 2561 จะเป็นสิงคโปร์ อินเดีย ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และจีน ในรายการของจีนเป็นการนำไปใช้ตกแต่งสถานที่รองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 (พาณิย์ ยศปัญญา, 2561)
การดำเนินธุรกิจไม้ขุดล้อม เป็นธุรกิจที่มีการตั้งข้อสงสัยต่อการปลูกเพื่อการใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรและเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น ไม้ที่เคลื่อนย้ายไปใช้งานหรือการส่งออกนั้น เป็นต้นไม้ที่มาจากแหล่งปลูกไม้ล้อมขาย หรือมาจากป่า จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชน ในกรณีที่ตำบลชะอม ก็เคยเป็นหัวข้อศึกษางานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2551 (ธานี คามเขต, 2551) จนในที่สุด กรมป่าไม้ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์กรมป่าไม้ พ.ศ. 2560-2579 ที่รวมเอาเรื่องของการสนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่า เพื่อการค้าในที่ดินของรัฐและของเอกชน เป็นการสร้างอาชีพให้ประชาชนมีงานทำ และผลิตไม้เพื่อเป็นสินค้า อันเป็นการรองรับและกำกับการประกอบธุรกิจไม้ขุดล้อม (สถิตย์ นะราช, 2549 อ้างใน วิเชียร พุทธศรี, 2561)
การเริ่มต้นกิจการของธุรกิจไม้ขุดล้อมที่ตำบลชะอม เริ่มจากผู้ประกอบการยุคเริ่มต้น เช่น กำนันสมชาติ พึ่งทรัพย์ คุณพยุง เชียงทอง และคุณสายบัว พาศักดิ์ ประกอบกันในระหว่างนั้นมูลนิธิสวีดิชมอเตอร์ และท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ได้จัดพัฒนาความรู้เรื่องการจัดการไม้ขุดล้อม ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการขายการจัดการพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ต่อการปลูกไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ที่เหมาะสม ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นไม้ได้ 1,600 ต้น ในเวลา 1 ปี ต้นไม้เหล่านี้จะขายได้ในราคา 50-150 บาท อันเป็นการสร้างมูลค่าต่อไร่ได้มากถึง 80,000-240,000 บาท/ปี หากขายไม่ได้ ต้นไม้ที่เหลือจาการขายไม่ได้ในปีนั้น ก็จะเติบโตขึ้นไปในปีถัดไป ซึ่งจะมีราคาขยับตามไปเป็น 200-300 บาทต่อต้น ปัจจุบัน การประกอบการธุรกิจไม้ขุดล้อมนี้ เข้าสู่รุ่นที่สองและสามของการประกอบการแล้ว ตัวอย่างของธุรกิจรุ่นที่สองในกรณีของร้านสีหนุการ์เด้น ของคุณนุกุล ธรรมา และคุณบุปผา ธรรมา เป็นกิจการแบบวิสาหกิจครัวเรือนหรือแบบกิจการรายย่อยซึ่งเปลี่ยนจากกิจการเดิมที่เป็นเกษตรกรปลูกพืชไร่ประเภทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ซึ่งต้องเผชิญกับสภาวะความผันผวนของราคาตลาดเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ให้ผลผลิตเร็วก็ตาม ครั้งแรกทดลองปลูกไม้ขุดล้อมในพื้นที่ 2 ไร่ ในปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 100 ไร่ มีการจ้างงานพนักงาน 10 ราย ข้อมูลการขายของสีหนุการ์เด้นจะขายต้นไม้ 10,000 ต้น/ปี ราคาต่ำสุด 50 บาท/ต้น สูงสุด 1.8 หมื่นบาท/ต้น โดยที่การขายไม้ขุดล้อมในปัจจุบันต้องขายพร้อมกับข้อแนะนำการปลูกและการดูแล โดยเฉพาะพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเหนียว น้ำขัง ต้นไม้ล้มง่ายและตายง่าย (พาณิย์ ยศปัญญา, 2561) ข้อมูลรายได้จากการประกอบการข้างต้น สอดคล้องกับข้อมูลของ คุณสายบัว พาศักดิ์ นำเสนอข้อมูล ต่อคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไปดูงานในพื้นที่ตำบลชะอม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ว่ามีผู้ประกอบการเป็นผู้ปลูกและขายไม้ขุดล้อมนี้ประมาณ 200 ราย และสร้างรายได้ให้กับชุมชนตำบลชะอม ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน ธุรกิจไม้ขุดล้อมได้ขยายจากตำบลชะอม ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และบางส่วนของอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการขยายตัวของผู้ประกอบธุรกิจรุ่นที่สามที่เป็นตัวแทนที่เชื่อมโยงการตลาดทั้งในและต่างประเทศทั้งการตกแต่งบ้านจัดสรร อาคาร สถานที่ และการจัดงานอีเวนท์ รวมทั้งการระบุประเภทขนาด และลักษณะเฉพาะที่ตลาดมีความต้องการ รวมทั้งระยะเวลาการใช้งานโดยในการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่ไปดูงานในพื้นที่ตำบลชะอม ก็ได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลและแผนงานการตลาดของนายณัฐศักดิ์ สุขศรี ซึ่งมีธุรกิจเป็นตัวแทนจัดหาไม้ขุดล้อมสำหรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อนึ่ง การประกอบธุรกิจไม้ขุดล้อมที่ตำบลชะอมในช่วงแรกเคยมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรและได้ยุติกิจการไป ปัจจุบันมีลักษณะของเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และให้ข้อแนะนำซึ่งกันและกันตามความสัมพันธ์ของความเป็นคนในชุมชนเดียวกัน โดยที่แต่ละคนก็มีกิจการ มีร้าน มีบริษัท มีคู่ค้าของตนเอง มีการเข้าถึงแหล่งทุน และสร้างข้อต่อในการดำเนินธุรกิจที่มั่นคงของตนแบบพึ่งตนเอง หากใครมีข้อมูลอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ก็จะส่งเป็นข้อมูลข่าวสารให้กันและกัน
Lesson-learned
กล่าวโดยสรุป ธุรกิจไม้ขุดล้อมที่ริเริ่มขึ้นที่ตำบลชะอม เป็นกิจการที่เปลี่ยนความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนมาสร้างเป็นอาชีพโดยอาศัยการสนับสนุนงานความรู้ของภาคประชาสังคมตามงาน CSR สวีดิชมอเตอร์และการทำงานของ อ.มีชัย วีระไวทยะ เปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมเป็นเกษตรประกอบการตามตัวอย่างของสีหนุการ์เด้น ประสานและสนองความต้องการตลาดบ้านจัดสรรการตกแต่งสถานที่สนาม ถนนและการจัดงานอีเวนท์ อันเป็นการพึ่งพากลไกการทำงานของระบบตลาดเป็นเครื่องมือนำทางพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนในชุมชนเดียวกันเป็นสำคัญ (ไม่ได้อาศัยการพึ่งพาการจัดตั้งองค์กร กลุ่ม วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยทั่วไป
เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจชุมชนที่มีการสร้างรายได้ของตนเองขึ้นโดยรวมตัวกันหลวม ๆ เป็นเครือข่ายผู้ประกอบการและการสื่อสารกันตามระบบการปรึกษาหารือตามวิถีความสัมพันธ์ของชุมชน มีการส่งข้อมูลข่าวสารทางการตลาดซึ่งกันและกัน (เกื้อกูลต่อกันและกัน)
ภาพประกอบที่ 2 บทบาทของผู้นำชุมชน-ท้องถิ่น
ที่มา: สุนทร คุณชัยมัง, 2566
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
สุนทร คุณชัยมัง. (2566). การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยธุรกิจไม้ขุดล้อม ตำบลชะอม จังหวัดสระบุรี. ใน 7 กลุ่มชุมชน พ้นจน ยั่งยืน ข้อค้นพบใหม่การแก้จนลดเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (น. 51-55). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.
Facebook. (7 ตุลาคม 2565). ไม้ขุดล้อมบ้านชะอม แก่งคอย สระบุรี Photo. https://www.facebook.com/photo/?fbid=536381485162750&set=a.536381441829421&locale=th_TH