ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม
ที่มา: Facebook, 2024.
ความเป็นมา
บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกิจการธุรกิจที่มุ่งหวังช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 ธุรกิจของบริษัทเป็นการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนาให้ชุมชนมีรายได้ อาชีพ ให้รักชุมชน เพิ่มพูนความสามัคคีในชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพาะต้นกล้าการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ “การประกอบการเพื่อสังคม” (Social Entrepreneurship) เป็นกิจการที่ได้รับการอบรมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการสนับสนุนหลักจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โครงการ SET Social Impact 2018 (พ.ศ. 2561)
การดำเนินกิจการ
บริษัทฯ ได้ออกแบบการทำธุรกิจที่ปรึกษาและร่วมพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในแต่ละชุมชน ประกอบด้วย (1) Co-partner ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ ร่วมทำการตลาดแผนระยะยาวให้กับชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น (2) Co-brand ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ภายใต้แบรนด์อื่นที่เข้มแข็ง ร่วมทำการตลาดแผนระยะยาวให้กับชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น (3) Sole Distributor คัดสรรสินค้าเพื่อจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สินค้าโดดเด่น และ (4) Consult เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์สินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน และกลุ่ม SMEs รายได้ของบริษัทมาจาก ส่วนแบ่งกำไรการลงทุน, จำหน่ายสินค้าและบริการ และงานที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียม
บริษัทได้พัฒนาบริการทางการตลาดเพื่อรองรับวิสาหกิจของชุมชน ตามช่องทางการตลาด และที่ผ่านมาได้จัดให้มีบริการ 4 ช่องทาง ได้แก่ (1) Event Marketing ร้อยละ 50.0 (2) Tele Sales ร้อยละ 20.0 (3) Marketing Online ร้อยละ 20.0 และ (4) Consignment (ฝากขาย) ร้อยละ 10.0
ผลความสำเร็จ
บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2562 จำนวน 10.50 ล้านบาท, พ.ศ. 2563 ยอดขาย 19.56 ล้านบาท และ พ.ศ. 2564 ยอดขาย 33 ล้านบาท (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, 2565) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน 20 แบรนด์ (มากกว่า 75 รหัสผลิตภัณฑ์) เป็นการพัฒนาชุมชน 30 แห่ง (มีชุมชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการมากกว่า 350 ครัวเรือน) ครอบคลุมพื้นที่ 29 จังหวัด กระจายไปทุกภาคของประเทศ สร้างนักพัฒนาชุมชน 9 คน สร้างการเรียนรู้เพื่อสังคม 500 คน สร้างรายได้สู่ชุมชน 27 ล้านบาท (ตัวเลขปี พ.ศ. 2564)
Lesson-learned
กรณีศึกษาของดีมีสุข (ไม่) จำกัด ถือได้ว่า เป็นกิจการเอกชนประเภท “การประกอบการเพื่อสังคม” (Social Entrepreneurship) หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการสร้างรายได้-สร้างงาน-สร้างอาชีพจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบตลาด รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคเกษตรชนบทเข้ากับเมือง กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลางที่สร้างสรรค์” (Creative agency) ของระบบเศรษฐกิจ หรือเป็นนักพัฒนาชุมชนจากภาคเอกชนและจากการประกอบการเช่นเดียวกับโลเคิล อไลค์ เพียงแต่กรณีของดีมีสุข (ไม่) จำกัด ไม่จดทะเบียนขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
การเริ่มต้นกิจการของดีมีสุข (ไม่) จำกัด ซึ่งพัฒนามาจากการเข้าร่วมอบรมตามโครงการเพื่อสังคมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วนำเอาความรู้และเครือข่ายที่ได้รับจากการอบรมไปริเริ่มดำเนินงานและระดมทุนสนับสนุน ซึ่งเป็น “ตัวแบบธุรกิจ” ที่ใช้ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน จุดแข็งหรือความโดดเด่นของดีมีสุข (ไม่) จำกัด ก็คือ การทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สร้างสรรค์ของการเชื่อมโยง ต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรรูปผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบตลาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปตามบทบาทของตลาดโมเดิร์นเทรด) ด้วยการสร้างแบบแผนของการจัดการความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบตลาด
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์. (26 พฤษภาคม 2568). บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด เรื่อง งบแสดงฐานะการเงิน ข้อมูลปีงบการเงิน 2557 – 2561. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/Y_oZEtsZPScI-I4Ofyd5VGrZb-7h3cwpYl4_QOoPbKuOwa908RXi-B6Wl_UWu78r
สุนทร คุณชัยมัง, ธัชกร ธิติลักษณ์, นัชชา เทียมพิทักษ์, และ ฉัตรวัญ องคสิงห. (2566). การศึกษาเรื่องปัจจัย และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย (น. 128-129). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.
Facebook. (February 7, 2024). Photo. https://www.facebook.com/photo/?fbid=973336108131740&set=a.701847478613939&locale=th_TH