Grab & Transform Business การขยายไลน์สู่แกร็บแพลตฟอร์ม

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า Grab
ที่มา: wikipedia, 2563.

          แกร็บ (Grab) เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ โดยที่ผู้ก่อตั้ง คือ Anthony Tan และ Tan Hooi Ling เป็นนักธุรกิจสิงคโปร์ที่มีถิ่นกำเนิดจากมาเลเซีย ทั้งคู่เป็นนักศึกษา MBA จาก Havard University ที่ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ในปี พ.ศ. 2555 แล้วขยายไปสู่บริการเพื่อการต่าง ๆ โดยมอเตอร์ไซค์ ส่งพัสดุ และสั่งอาหาร ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และไทย รวมทั้งการให้บริการทางการเงิน ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 อูเบอร์ ได้ขายกิจการในภูมิภาคนี้และยุบรวมเข้ากับแกร็บ

          แกร็บ ประเทศไทย ได้เปิดให้บริการภายใต้ชื่อแกร็บแท็กซี่ ในปี พ.ศ. 2556 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแกร็บ มีธุรกิจหลัก 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ (1) Grab Car (2) Grab Taxi (3) Grab Bike (หลังจากควบรวมธุรกิจของ UBER ในประเทศไทยมาด้วย) (4) Grab Food (สั่งอาหาร) (5) Grab Express (ส่งพัสดุ) (6) Grab Pay (ระบบการชำระเงินออนไลน์) (7) Grab for Business (บริหารจัดการเรื่องเอกสารสำคัญให้ภาคธุรกิจ) และ (8) Grab Financial (บริการทางการเงิน)

          Grab ริเริ่มธุรกิจด้วย Business Model ที่ต่างไปจาก Uber เพราะเริ่มขึ้นจากการพัฒนาธุรกิจของแท็กซี่ในมาเลเซีย ด้วย Online-to-Offline ที่ให้บริการผ่าน Smartphone Application เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างการให้บริการเดิมของแท็กซี่ Grab เน้นให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมแบบให้การดูแลซึ่งกันและกันระหว่างบริษัทกับคนขับแท็กซี่ การบริการลูกค้า และความคล่องแคล่วว่องไวในการบริการ ฯลฯ เป็นนวัตกรรมการจัดการองค์กรที่นำไปสู่การสร้างความสามารถทางการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างส่วนผสมของเทคโนโลยี ICTs การเงิน และความสะดวกต่อการให้บริการข้อมูลข่าวสารของ Application (Smith, Wong and Appasamy, 2019)

          ในไทย แกร็บ มีพาร์ทเนอร์คนขับรถนับแสนคน ครอบคลุมในทุกบริการ ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งผู้โดยสาร ส่งอาหารหรือส่งของ โดยส่วนใหญ่พาร์ทเนอร์คนขับรถจะเลือกให้บริการเป็นงานพาร์ทไทม์เพื่อหารายได้เสริม โดยแกร็บไม่เพียงจะให้ความสำคัญกับการบริหารค่าตอบแทนให้สมดุลและสอดคล้องกับระบบอุปสงค์ อุปทาน แต่แกร็บยังพยายามจัดสรรสิทธิประโยชน์เสริมอื่น ๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนขับด้วย แม้แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากจะจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน อย่างเช่น หน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือแล้ว ยังได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคจัดกิจกรรมตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับคนขับด้วย นอกจากนี้ ยังได้ทำประกันเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนค่าตรวจและคุ้มครองรายได้ให้กับคนขับที่ป่วยจากโรคโควิด-19 แกร็บ มีวิสัยทัศน์เพื่อรองรับต่ออนาคตของเมืองอัจฉริยะ และระบบการให้บริการแบบไร้รอยต่อที่มุ่งยกระดับการใช้ชีวิตในทุกวันของผู้บริโภคผ่านเทคโนโลยี มีการกำหนดพันธกิจ เป็น Grab For Good ที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีและก้าวทันเศรษฐกิจดิจิทัล มีแผนยุทธศาสตร์

          ปี พ.ศ. 2564 แกร็บ ประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด GROW ใน 4 ด้าน คือ (1) ต่อยอดความเป็นผู้นำธุรกิจรับ-ส่งอาหาร (G-GrabFood Leadership) โดยเน้นย้ำความเป็นผู้นำในด้านคุณภาพบริการ ความเชื่อมั่นในเรื่องความรวดเร็ว ตัวเลือกเมนูอาหารที่หลากหลายและประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ ยังคงจุดเด่นในด้านคอนเซ็ปต์สนุกสนาน เข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคและเพิ่มเมนูพิเศษที่มีเฉพาะบนแกร็บฟู้ดเท่านั้น (Signature Menu) กว่า 300 เมนู (2) ยกระดับความสัมพันธ์กับคนทุกกลุ่มในอีโคซิสเต็ม (R-Relationship with Key Stakeholders) เพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถตอบสนองความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกฝ่าย แกร็บจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์คนขับในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เร่งเสริมศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจของพาร์ทเนอร์ร้านค้า ทั้งกลุ่มร้านอาหารและกลุ่มร้านค้าออนไลน์ผ่านการทำการตลาดของแกร็บ การอบรมและแชร์ความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ในการทำธุรกิจให้สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการปรับกระบวนการลงทะเบียนเพื่อขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บและกระบวนการจ่ายเงินให้แก่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารให้สะดวกรวดเร็ว เพื่อโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการนำเสนอประสบการณ์ที่ปลอดภัยแก่กลุ่มผู้ใช้งาน และสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่เข้าถึงอินไซต์ผู้บริโภค (3) ขยายบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค (O-Opportunities for New Business) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การขยาย GrabKitchen ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง การขยายบริการ GrabMart ให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภทยิ่งขึ้น ขยายบริการอีวอลเล็ต เปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ เช่น บริการสินเชื่อแก่พาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ใช้งาน รวมไปถึงบริการประกันและการลงทุน และ (4) ส่งเสริมทักษะดิจิทัลเพื่อสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 (W-Digital Workforce Development in Support of Thailand 4.0) โดยได้ร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาทักษะและความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) (2) การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) และ (3) การเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยแกร็บจะยังคงร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และสร้างสรรค์บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์พาร์ทเนอร์ร้านอาหารและคนขับ ในปี พ.ศ. 2564 แกร็บ ประเทศไทย สร้างรายได้จากแพล็ตฟอร์ม 306,000 ล้านบาท มีธุรกิจ SMEs ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมแพลตฟอร์ม GrabFood & GrabMart มากกว่า 680,000 ธุรกิจ มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยของพันธมิตรผู้ค้ารายย่อยของ Grab เพิ่มขึ้น 16% จากปี พ.ศ. 2563 (ข้อมูลล่าสุดในปี 2567 มีการจ้างงาน
ผู้พิการ 5,140 คน มีผู้หญิงที่เข้าร่วมบริการไรเดอร์มากกว่า 130,000 คน และสร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ (แบบรายชั่วโมง-hourly minimum wage) 99% (Grab, 2024)

          การบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันแกร็บในไทยปี 2567 ได้พัฒนาบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก เช่น GrabCar SAVER-เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเรียกรถในราคาที่ประหยัดลง โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่า 400% ในหัวเมืองหลัก บริการจองรถล่วงหน้า (Advance Booking) โดยสามารถจองรถล่วงหน้าได้ถึง 7 วันและมีประกันคุ้มครองสูงสุดถึง 800,000 บาท โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่นิยมใช้บริการเพื่อเดินทางไปสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่ การเลือกใช้รถอีวี (Grab EV Rides) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 200% การบริการของแกร็บ ได้สะท้อนความนิยมและพฤติกรรมทางสังคมรวมทั้งแนวโน้มของธุรกิจ เช่น บริการเรียกรถที่สนามบินซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่า 67% โดย 5 ชาติที่ใช้บริการมากที่สุด คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม 5 แหล่งชอปปิ้งที่เป็นจุดหมายปลายทางเรียกบริการรถของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ไอคอนสยาม เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน ถนนข้าวสาร และตลาดนัดจตุจักร และที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามขึ้นมา คือ เอ็มสเฟียร์ จังหวัดเมืองรอง ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล สะท้อนผ่านยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะใน 5 เมืองน่าเที่ยวอย่างเชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก ที่เติบโตขึ้นกว่า 90% การสั่งอาหาร 5 เมนูขายดีแห่งปี คือ ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวมันไก่ หมูปิ้ง รวมถึงเมนูที่ทำจากหมูอย่าง “ไข่พะโล้” และ “ข้าวขาหมู” ขณะที่กาแฟและชายังคงเป็นเมนูเครื่องดื่มขายดีตลอดปี นำโดย “อเมริกาโน่เย็น” ซึ่งมียอดสั่งรวมทั้งปีถึง 5 ล้านแก้ว รองลงมา คือ “ชาไทย” โดยเฉพาะเมนู “เสลอปี้ชาไทย” ตามมาด้วยเอสเพรสโซ่เย็น ชาเขียวเย็น และชานมไข่มุก (Grab, 2025)

 

Lesson-learned

          Grab เป็นกิจการสตาร์ทอัพรายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี พ.ศ. 2564 และข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 ถือได้ว่า Grab เป็น Fast Company ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมมากที่สุดของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (Marvin, 2023)

          หากจะพิจารณาความแตกต่างระหว่าง Amazon กับ Alibaba ที่เริ่มต้นธุรกิจ E-commerce ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และมุ่งต่อการให้นำเอา ICT มารองรับต่อการบริการ แต่ก็จะเห็นว่า ทั้ง 2 กิจการมีการเริ่มต้นกระบวนการทำงาน หรือ Approach ที่ต่างกันโดยพื้นฐาน (Amazon เป็นตัวอย่างของ B2C ในขณะที่ Alibaba จะเห็นบทบาทที่สำคัญของ B2B) เช่นเดียวกันในกรณีของ Uber กับ Grab ก็มีความแตกต่างกันในองค์ประกอบของรถที่เข้ามาร่วมงาน Uber เป็นรถบ้าน-ไม่ใช่ผู้บริการแท็กซี่รับจ้างมาก่อน ในขณะที่ Grab พัฒนาจากแท็กซี่ที่มีความพร้อมที่จะให้บริการ พร้อมกันนั้น Grab ยังสะท้อนการพัฒนากิจการไปสู่ Super App ที่ให้บริการที่โดดเด่นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายจาก Rides and Deliveries ไปสู่ Financial Services ทั้ง Digital Payments and Lending อันเป็นเรื่องของการบริโภคทั้งการสนองตอบคุณภาพของการใช้ชีวิตประจำวัน และความพร้อมของการเข้าถึงแบบ One-stop-shop

          อนึ่ง The ride-hailing business โดยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการขนส่งและการเดินทางเป็นสำคัญ เช่น Uber (บริการทั่วโลก 70 ประเทศ) หรือ Lyft (บริการในสหรัฐอเมริกา)-นอกจากบริการเรียกรถ ยังมี food delivery, package delivery, and freight transport, DiDi (บริการในจีน) Bolt (บริการในยุโรป) หรือ Yandex (บริการในรัสเซีย) ก็มุ่งเน้นบริการเรียกรถเป็นหลัก

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

สุนทร คุณชัยมัง, วีรบูรณ์ วิสารทสกุล, และ สุภาวดี ขุนทองจันทร์. (2566). การวิจัย เรื่อง การสร้างสรรค์คุณค่าของธุรกิจคู่สังคม (Creating Shared Values: CSV) กับการสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย (น. 20 – 24). ปทุมธานี: ม.ป.ท.

Grab. (2024). Grab ESG REPORT 2024 Building an ecosystem for all. https://assets.grab.com/wp-content/uploads/media/si/reports/2024/Grab-ESG-Report-2024.pdf

Grab. (January 7, 2025). แกร็บ เผยสถิติที่สุดแห่งปี 2024 “บริการเรียกรถ-ฟู้ดเดลิเวอรี”. https://www.grab.com/th/press/others/grabfunfacts2024/

Marvin, S. (2023). The 10 most innovative Asia-Pacific companies of 2023. https://www.fastcompany.com/90846729/most-innovative-companies-asia-pacific-2023

Smith, R., Wong, A. And Appasamy, L. (2019). Grab: Building a Leading O2O Technology Company in Southeast Asia. Bras Basah.Bugis: Singapore Management University.

Wikipedia. (16 กันยายน 2563). Grab Logo. https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Grab_Logo.svg

 

Related Posts

Leave a Comment