Grameen Bank Experience

by sirdi
0 comments

 

การจัดการตนเองของชุมชน การขับเคลื่อนภาคประชาสังคม และการสนับสนุนของรัฐ

ภาพประกอบที่ 1 Muhammad Yunus Quotes
ที่มา: Quotefancy, n.d.

 

บทนำ

          การดำเนินงานของ Grameen Bank ที่สร้างความสามารถในการให้บริการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนจนในบังคลาเทศตามการบริการแบบ Micro-credit และ Free-Collateral Banking ที่ Prof. Muhammad Yunus และ Grameen Bank ได้พัฒนากระบวนการจากการทำงานแบบกลุ่ม ที่เรียกว่า “กลุ่มพึ่งพาตนเอง” (Self-Help Group: SHG) การเกื้อกูล และความสัมพันธ์ตามสายใยของชุมชนเพื่อนบ้าน ให้เป็นองค์ประกอบร่วมของการทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ข้อคิด และข้อแนะนำการใช้จ่ายเงินจากการกู้ยืมจากธนาคารไปเพื่อการต่าง ๆ ทั้งใช้จ่ายตามความจำเป็นของครัวเรือน และการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ที่มีการคำนึงถึงความสามารถของตนเอง และรอบระยะเวลาการชำระคืน (ต่อหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นงวดของการผ่อนขำระ) อันเป็นการนำเอากระบวนการทางสังคม (Social Process) มาร่วมสร้างเป็นกลไกแทนการค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์

          การดำเนินงานของ Micro-credit และ Free-Collateral Banking ของ Grameen Bank ที่ได้ริเริ่มเป็นโครงการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 นั้น ได้เป็นผลงานสำคัญที่ทำให้ Yunus และ Grameen Bank ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี ค.ศ. 2006 ผลงานดังกล่าว ได้ทำให้อัตราความยากจนของบังคลาเทศ ในระหว่างปี ค.ศ. 1991-1999 ลดลงไป 40 % (Khandaker, 2005) ทำให้คนจนในบังคลาเทศใช้เป็นเครื่องมือปลดปล่อยตัวเองไปจากวงจรของความยากจนและการผลิดซ้ำของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เอารัดเอาเปรียบแบบเดิม (Sathi, 2016) การดำเนินงาน ณ ปี ค.ศ. 2016 ของ Grameen Bank ได้จัดตั้งกลุ่ม SHG ครอบคลุมพื้นที่ 83,458 หมู่บ้าน หรือ 94% ของพื้นที่หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ประสานงานของชุมชนกับธนาคารทั้งสิ้น 144,106 ศูนย์ (Sathi, 2016) โดยที่สินเชื่อของธนาคาร 97% ของผู้กู้เป็นผู้หญิง-ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเป็นผู้ที่มีบทบาทดูแลครอบครัวและการใช้จ่ายเพื่อการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ผู้กู้ยืม และ SHG ต่างเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารมากถึง 97% ส่วนที่เหลือ 3% ของรัฐบาล

 

หมู่บ้าน Jobra จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

          ความสามารถของ Micro-credit และผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของ Grameen Bank ที่ได้สร้างการเข้าถึงแหล่งทุนของคนจนบังคลาเทศข้างต้น ถือได้ว่า เป็นความสำเร็จที่สร้างขึ้นพร้อมกับการพัฒนาทุนและกระบวนการทางสังคมมาเป็นกลไกสำคัญของการจัดการกลุ่ม อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการพัฒนาชุมชนตามโครงการของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจิตตะกอง ภายใต้การดูแลของ Yunus ที่เรียกว่า Three Share Farm ที่เริ่มขึ้นที่หมู่บ้าน Jobra

          หลักการของ Three Share Farm คือ การผนวกรวมของทุนจาก 3 ส่วนเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ โดยส่วนที่หนึ่ง เป็นทุนของของเกษตรกรที่รวมตัวกันด้วยแรงงาน ส่วนที่สอง เป็นทุนของเจ้าของที่ดิน ที่นำเอาที่ดินมาร่วมเป็นทุนในการผลิต และส่วนที่สาม เป็นเงินทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและการบริหารจัดการของนักศึกษา เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วและขายได้ ก็จะแบ่งปันกันส่วนของทุนทั้งสามส่วน

          แต่ด้วยการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้จากการขาย และไม่สามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ แต่ผลจากการสังเกตุและการปรึกษาหารือของโครงการพัฒนาดังกล่าว Yunus และคณะ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการลงทุนประกอบการอาชีพเล็ก ๆ น้อยในชุมชนที่สร้างรายได้และสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าการพึ่งรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร เช่น การจัดทำโต๊ะไม้ไผ่ มานั่ง/เก้าอี้ไม่ไผ่ และร้านค้าชุมชน ฯลฯ แต่เขาเหล่านั้น กลับมีปัญหาเรื่องการกู้เงินจากนายทุนเงินกู้รายวัน (เงินกู้นอกระบบ) ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งก็คือ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้/ระบบทางการเงินนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมเงินกู้แบบนี้จึงดำรงอยู่ได้-เป็นเพราะชาวบ้านกู้ไปใช้จ่ายในการประกอบอาชีพจริง ในขณะเดียวกัน การผ่อนชำระรายวัน ก็คือ กลไกของการติดตามสินเชื่อ Yunus และทีมงานจึงสำรวจชาวบ้านที่กู้เงินนอกระบบเหล่านี้ จำนวน 42 ราย แล้วให้กู้ยืมในวงเงิน 27 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าวได้รับชำระคืนตามกำหนดเวลา กระบวนการดังกล่าวสามารถไปแทนที่การกู้ยืมเงินกู้ดอกเบี้ยสูง อันเป็นการผ่อนคลายภาระการผ่อนชำระหนี้ลงไป และมีความสามารถที่จะขยายการลงทุนในกิจการของตนเองเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้

          ผลจากการทดลองดังกล่าวทำให้ Yunus ได้รับวงเงินกู้จาก Janata Bank ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐเพื่อปล่อยกู้ให้ชาวบ้านที่ต้องการกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ตามการวิเคราะห์ของทีมงาน โดยที่ปล่อยกู้จาก Janata Bank นี้ Yunus ต้องเป็นผู้กู้ร่วม/ค้ำประกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1979 Krishi Bank ธนาคารของรัฐที่ให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรได้เข้ามาร่วมการดำเนินงานกับ Yunus โดยเป็นเงินกู้ที่ให้ความสำคัญกับ Microcredit และกระบวนการกลุ่มพึ่งตนเอง (Self-Help Group: SHG) เพื่อร่วมวิเคราะห์ความจำเป็น และติดตามการผ่อนชำระคืนให้ธนาคารแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือที่เรียกว่า Free-Collateral Loan โดยที่ Yunus และทีมงานต้องมาทำหน้าที่เป็นพนักงานในโครงการของธนาคาร และเรียกโครงการนี้ว่า Grameen Bank Project พร้อมขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอ

          กระบวนการกลุ่มของ SHG ที่ Grameen Bank ได้กำหนดขึ้นนั้น มีแนวปฏิบัติสำหรับการกู้ยืม การใช้จ่าย การชำระคืน และการออม รวมทั้งกำหนดหลักครองตน ดังนี้

  1. การรวมกลุ่มแบบพึ่งตนเอง (Self-Help Group)
    1. สมาชิกที่จะมารวมกลุ่มเป็นผู้ไร้ซึ่งทรัพย์สิน/ความมั่งคั่ง และไม่มีที่ดิน
    2. กลุ่มในระดับหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน/กลุ่ม, 2-3 กลุ่ม เป็นหน่วย,

10 หน่วย = 1 Center (จัดโครงสร้างชุมชนไปสอดรับการทำงานส่งเสริม)

  1. สมาชิกของกลุ่มอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
  2. กลุ่ม ประกอบด้วยองค์ประกอบของสมาชิกที่เหมือนกัน 3 เรื่อง คือ ความคิด ชนชั้นทางเศรษฐกิจ และรวมกันด้วยความยินดี
  3. สมาชิกของกลุ่ม จะเป็นตัวแทนของครัวเรือน หากมีครัวเรือนใดครัวเรือนหนึ่งมีหลายคนประสงค์จะรวมกลุ่ม จะต้องแยกกลุ่มจากกัน
  4. สมาชิกของกลุ่ม ไม่มีความสัมพันธ์เป็นพ่อ-ลูก ลุง ป้า-หลาน พ่อ แม่-ลูกบุญธรรม
  1. การกู้ยืม
    1. การกู้ยืมของสมาชิก-เป็นการกู้ที่ได้รับความคิดเห็นและแนะนำจากสมาชิกของกลุ่ม
    2. การกู้ยืมของสมาชิก จะต้องชำระคืนเป็น “รายสัปดาห์”
    3. ในระหว่างสัปดาห์หนึ่ง จะต้องมีการใช้จ่ายเงินจากการกู้ยืมไปดำเนินกิจการ
    4. เมื่อชำระเงินกู้ครบแล้ว หากมีทรัพย์สินที่นำเงินกู้นั้นไปซื้อ ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของ “ธนาคาร”
    5. สมาชิกของกลุ่ม จะต้องเข้าร่วมประชุมประจำสัปดาห์
    6. สถิติการชำระคืนงานตามงวดที่กำหนด เป็นคุณสมบัติสำคัญของสมาชิก
    7. สมาชิกของกลุ่มหนึ่ง แสดงความเห็นต่อการจัดการที่ผิดไปจากหลักการของกลุ่มอื่นได้
    8. สมาชิกของกลุ่ม อาจถูกขับไล่ออกจากกลุ่มได้-กรณีที่ไม่ทำตามกติกาของกลุ่ม
    9. หัวหน้าศูนย์ (Center) จะเลือกจากผลของการทำงานและการประชุมแต่ละสัปดาห์ และหากล้มเหลว จะมีการเลือกใหม่
      .
  2. หลักครองตนของผู้กู้
    1. หลัก เอกภาพ ความกล้า และแรงงาน
    2. จะสร้างความเพิ่มพูนแก่ครอบครัว
    3. จะซ่อมแซมปรับปรุงบ้านอยู่อาศัย
    4. ปลูกผัก ทานผัก และขายส่วนที่เหลือ
    5. ปลูกพืชในระหว่างฤดู เก็บพันธุ์ไว้ให้มาก
    6. วางแผนครอบครัวให้เล็ก ใช้จ่ายให้น้อย และใส่ใจในสุขภาพ
    7. ให้การศึกษากับเด็ก
    8. รักษาเด็กให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสม และสะอาด
    9. สร้างและใช้ส้วมหลุม
    10. ดื่มน้ำจากน้ำประปา หรือน้ำต้มสุก
    11. ไม่ให้และรับสินสอดทองหมั้น
    12. ไม่ให้มีเด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร
    13. ไม่มีการลงโทษด้วยความไม่ยุติธรรม รวมทั้งไม่สนับสนุนการลงโทษในวิธีการนี้
    14. จะลงทุนเพิ่มในกิจการที่สร้างรายได้เพิ่ม
    15. จะอาสาทำงานแทนศูนย์ หากศูนย์มีความขัดข้อง
    16. จะรักษาไว้ซึ่งกิจการของศูนย์ โดยถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรวมกลุ่มของสังคม

          Grameen Bank Project ได้นำเอาผลงานและความสำเร็จภายใต้การสนับสนุนของ Krishi Bank ไปขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลและธนาคารกลางของบังคลาเทศและได้รับอนุมัติให้ขยายบริการออกไป/ทดสอบอีก 3 เมืองเพื่อพัฒนาการบริการให้ขยายครอบคลุมไปให้ทั่วประเทศ Grameen Bank Project ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น Grameen Bank ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารในปี ค.ศ. 1983 จนนำไปสู่การเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของบังคลาเทศ และทำให้ Yunus และ Grameen Bank ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 2006

 

Lesson-learned

          วิวัฒนาการความสำเร็จของ Yunus และ Grameen Bank ข้างต้น เป็นผลของการทำงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน และเคลื่อนตัวไปความสำเร็จจากระดับชุมชนระดับหมู่บ้านไปสู่เมือง และสร้างต้นแบบขึ้น 4 เมืองก่อนที่จะขยายออกไปทั่วประเทศ อันเป็นการขยายตัวจากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จจากจุดเล็ก ๆ ไปสู่พื้นที่กว้างใหญ่ แล้วกระจายออกไปจนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อันเป็นผลของการทำงานที่เป็นไปแบบกระจายความสำเร็จออกไปจากศูนย์กลางหรือต้นแบบ

          การสร้างความเข้มแข็งและความสามารถของชุมชน จาก Microcredit ก็พัฒนาจากระดับปัจเจกไปสู่กลุ่มและองค์กร มีการสร้างแนวปฏิบัติสำหรับการครองตน การกู้ยืมและการชำระคืน การทำงานกลุ่มและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นกระบวนการฟื้นฟูทุนทางสังคม การทำความเข้าใจต่อแบบแผนของรายได้ การใช้จ่าย การกู้ยืม และการชำระคืน (Financial Literacy) เพื่อใช้เป็นหลักประกันแทนการค้ำประกันโดยหลักทรัพย์

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

Khandker, S. R. (2005). Microfinance and Poverty: Evidence Using Panel Data from Bangladesh. Published by Oxford University Press on behalf of the World Bank. © World Bank.

Quotefancy. (n.d.). Muhammad Yunus Quotes. https://quotefancy.com/quote/1479852/Muhammad-Yunus-Poverty-is-not-created-by-poor-people-It-is-produced-by-our-failure-to

Sathi, U.S. (2016). Grameen Bank the struggle of Muhammad Yunus. Dhaka: Adorn Publication.

Related Posts

Leave a Comment