ความเป็นมา
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยเตย อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน มีสมาชิก 1,325 คน (ประชากรในตำบล 4,658 คน) มีเงินกองทุนสะสมจนถึงปัจจุบัน 2,042,162 บาท เป็นกองทุนที่จัดบริการสวัสดิการ 9 ประเภท อันเป็นบริการตามกรอบงานปกติของกองทุนสวัสดิการชุมชน ตามแนวทางการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้แก่ (1) สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร (2) สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล (3) สวัสดิการผู้สูงอายุ (4) สวัสดิการกรณีเสียชีวิต (5) สวัสดิการเพื่อการศึกษา (6) สวัสดิการคนด้อยโอกาส/คนพิการ (7) สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ (8) สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม และ (9) สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
แต่ด้วยมีสถานการณ์ปัญหาทางสังคมของตำบลที่มักจะเกิดขึ้นจากการทำงานของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่นในการจัดข้อมูลทะเบียนประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลคนจน หรือบุคคลเป้าหมายที่ภาครัฐจะมุ่งแก้ไขช่วยเหลือ ซึ่งมักจะดำเนินงานก่อนที่จะมีการช่วยเหลือเป็นโครงการในภายหลัง ในช่วงของการจัดทำข้อมูลดังกล่าว ผู้นำ มักจะตัดข้อมูลบ้านร้าง-คือ คนที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนราษฎร์ในหมู่บ้าน แต่ตัวคนทั้งครอบครัวออกจากหมู่บ้านไปทำงานที่อื่นนานแล้ว บางรายมากกว่า 10 ปี แต่เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ หลังจากการส่งข้อมูลและรับการช่วยเหลือจากทางโครงการต่าง ๆ แล้ว เขาเหล่านั้น กลับเดินทางกลับบ้าน และมาขอรับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งผู้นำชุมชน ก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้อีก เพราะโครงการช่วยเหลือเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2561 มีการสำรวจข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยเตย พบว่ามีประชาชนที่เข้าข่ายคนจนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ-เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12 ราย (12 ครัวเรือน) อันเนื่องมาจากกรณีบ้านร้าง จึงเสมือนหนึ่งว่า เดิมตอนอยู่ที่หมู่บ้าน เขาเหล่านี้ยากจน จึงต้องย้ายและอพยพไปทำงานในกรุงเทพ/ไปอยู่กรุงเทพ ก็อยู่แบบคนจน/เมื่อกลับมาบ้านนอก ก็ยังเป็นคนจน มิหนำซ้ำยังต้องประสบกับปัญหาข้อมูลตกหล่น-เขาเหล่านี้ อยู่ที่ไหนก็ “จน” จึงมีการขนานนามคนจนจากผลการสำรวจนี้ว่า “คนจนอีหลี”
กองทุนสวัสดิการชุมชนห้วยเตย จึงจัดทำโครงการช่วยเหลือคนตามผลสำรวจ 12 คน (12 ครอบครัว) ด้วยการประสานความร่วมมือกับองค์กรชุมชนที่มีการจัดตั้งขึ้น ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีการจ้างงาน เช่น ร้านค้าประชารัฐ โรงงานผลิตน้ำดื่มห้วยเตย โรงสีข้าวชุมชน/กลุ่มผลิตข้าวพันธุ์ดีครบวงจรห้วยเตย หรือการรับจ้าง หรือแรงงานรับจ้างตามโครงการพัฒนาทางการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ รวมทั้งงานของวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลัง บ้านวังทอง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลห้วยเตย ฯลฯ จัดจ้างให้คน 12 คน/ครอบครัวนี้ทำงานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่มี ในขณะเดียวกัน ก็ให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือทางสวัสดิการ (โดยหักเงินจากค่าจ้างเป็นรายเดือน ชำระค่าสมาชิกกองทุน)
การดำเนินงานตามโครงการช่วยเหลือดังกล่าว มีการจ้างงานไปแล้วจำนวน 12 ครัวเรือน ในองค์กรต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการร้านค้าประชารัฐ 1 คน โรงงานผลิตน้ำดื่ม 1 คน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลัง บ้านวังทอง 5 คน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวพันธุ์ดีครบวงจรตำบลห้วยเตย 4 คน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลห้วยเตย 1 คน ครบจำนวน 12 คน โดยมีค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 7,500 บาท/เดือน และทุกรายเป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนห้วยเตย
Lesson-learned
การดำเนินงานให้การช่วยเหลือผู้ตกหล่นจากการสำรวจข้างต้นของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยเตยข้างต้น หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ก็จะมีเพียง 12 คน หรือ 12 ครัวเรือน แต่หากพิจารณาเชิงระบบ จะเห็นถึง ลักษณะของปัญหา ก็จะเห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากระบบการบริหารงานของรัฐ แต่ในการแก้ไข กลับสามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้ด้วยความสามารถขององค์กรชุมชน การนำ และการประสานงานของผู้นำในพื้นที่ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงหลัก “ความเกื้อกูล” (Solidarity) ที่ดำรงอยู่ในชุมชน และได้นำเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง
ความสัมฤทธิ์ผลของการทำงานขององค์กรชุมชนข้างต้น ถือได้ว่า เป็นตัวอย่างของกลไกการทำงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความสามารถของชุมชนเป็นสำคัญ/ไม่ได้พึ่งพากลไกของรัฐ รวมทั้งอิงกับฐานอำนาจตามกฎหมาย และถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรมภาคพลเมือง” (Civic Innovation) ที่ร่วมกันสร้างขึ้นขององค์กรชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยเตย ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเตย หรืออำเภอกุดรัง หรือจังหวัดมหาสารคาม ควรให้ความสนใจพัฒนาและกระตุ้นให้มีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวมากขึ้นไปอีก
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
สุนทร คุณชัยมัง, พิมพ์ชฎา ธนดำรงกุล, และ ทัศนีย์ ขัดสืบ. (2563). โครงการสังเคราะห์ชุดความรู้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสู่การยกระดับเป็นนวัตกรรมสวัสดิการชุมชน, หน้า 14-15. ปทุมธานี: ม.ป.ท.