ITC e-Choupal

by sirdi
0 comments

 

          ITC e-Choupal เป็นโครงการของบริษัท ITC Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบหลากหลาย หรือ Conglomerate Company ทั้งกิจการโรงแรม ซอฟต์แวร์ บรรจุภัณฑ์ กระดาษ และธุรกิจการเกษตร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโกลกาตาของอินเดีย เป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในอินเดียทั้งตลาดมุมไบ โกลกาตา และตลาดแห่งชาติของอินเดีย เป็นบริษัทที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกจากการค้าใบยาสูบในธุรกิจบุหรี่ ดังนั้น จึงมีพื้นฐานของห่วงโซ่ทางธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับพ่อค้าคนกลาง เกษตรกร และพื้นที่ชนบทของอินเดียมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ภาพประกอบที่ 1 การทำงานร่วมกันของ e-Choupal Model
ที่มา: ปรับปรุงจาก Itcportal, 2025.

 

          e-Choupal Model เป็นงานบริการส่วนหนึ่งของบริษัทที่อยู่ในการบริหารของ ITC’s Agri Business Division ที่มีการนำเอาระบบการจัดการข้อมูล และ ICT เข้ามารองรับการให้ข้อมูลข่าวสารกับเกษตรกร และทำหน้าที่เป็นตัวแทน/คนกลาง ในการติดต่อซื้อขายกับบริษัทโดยตรง โดยคำว่า Choupal เป็นภาษาฮินดู ที่หมายถึง พื้นที่ที่ทุกคนมาใช้งานร่วมกันได้ (Gathering Place) อันเป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอนของตัวกลางที่รวบรวมผลผลิตและตกลงราคาซื้อขายกันโดยไม่มีพื้นฐานของข้อมูลทางการตลาดมารองรับ อันเป็นไปตามวิถีของการซื้อขายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือทางสังคมระหว่างผู้ซื้อผู้ขายในระบบเศรษฐกิจและสังคมของอินเดีย การทำงานของระบบข้อมูลของ e-Choupal Model เริ่มด้วยการรวบรวมเกษตรกรขึ้นมารองรับระบบการสื่อสารของ VSAT Connection ต่อหน่วยหนึ่ง ๆ ด้วยจำนวนประชากรของเกษตรกรประมาณ 600 ราย ในพื้นที่ 10 หมู่บ้าน (ในรัศมี 5 กิโลเมตร) โดยมีการจัดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรับรู้การไหลเวียนของข้อมูลทางการตลาดสำหรับการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ใบยาสูบ ข้าวสาลี กุ้งฝอย และอื่น ๆ อันเป็นข้อมูลจำเป็นในการกำหนดราคาในระหว่างการทำหน้าที่ตัวกลางของทั้ง ตัวกลาง-ตัวแทนเกษตรกร ที่เรียกว่า Sanchalak และการรับซื้อที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลในระดับเมืองที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลิตผลต่าง ๆ ที่เรียกว่า Mandis ทำให้เกษตรกร และตัวกลางต่างใช้ฐานข้อมูลราคาที่มาจากพื้นฐานของข้อมูลเดียวกัน และการทำงานของ Sanchalak ซึ่งเป็นตัวกลางของชุมชน ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ชุมชนและระบบข้อมูลข่าวสารของ e-Choupal Model ให้ไปทำหน้าที่แทนเกษตรกรของชุมชน แทนบทบาทเดิมของระบบการค้าที่เคยเป็นหน้าที่ของ Adatiya ซึ่งเป็นตัวแทนซื้อขายแบบพ่อค้าตัวกลางรายย่อยทั่วไป นอกจากนั้น เกษตรกร ยังสามารถใช้บริการของ e-Choupal สั่งซื้อสินค้าจำเป็นทั้งเมล็ดพันธุ์ วัสดุทางการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคจาก ITC ได้โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย (Annamalai, K & Rao, S., 2003)

          การดำเนินงานของ e-Choupal Model ที่เริ่มขึ้นด้วยการนำเอาระบบอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารไปสร้างเป็นกลไกของการจัดการข้อมูลความรู้ให้กับเกษตรกรของอินเดีย ในปี ค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน (2022) ได้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 4 ล้านคน ใน 35,000 หมู่บ้าน พร้อมมี Kiosks สนับสนุนบริการนี้ทั้งสิ้น 6,100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 10 มลรัฐของอินเดีย อันเป็นแบบแผนของการสนับสนุนให้เกษตรกรหลุดพ้นไปจากวงจรของความยากจนและการเผชิญกับความเสี่ยงโดยไม่มีการจัดการใด ๆ เข้าไปรองรับ ไปสู่การริเริ่มสร้างความสามารถแบบการพึ่งพาตนเองและเป็นส่วนที่สร้างขึ้นมาใหม่

 

Lesson-learned

          e-Choupal Model เป็น “จุดพลิก” (Turning Point) ของ Large Company ที่จัดการบริหารงานห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อรวบรวมสินค้า ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตร หรืองานตัวกลาง/เอเยนต์ (ทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และกิจการสัมปทาน) ที่เคยเป็นเครื่องมือพึ่งพิงในการจัดหาและรวบรวมผลผลิตจากชุมชน โดยเปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่มีการสร้างสรรค์กระบวนการสื่อสารข้อมูลราคาสินค้าทางการตลาด ณ ท่าเรือ ที่บริษัทรับซื้อ (รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ)-อินเตอร์เน็ตชุมชน เพื่อให้การเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ณ ท่าเรือ ได้สร้างประโยชน์โดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรในภาคชนบท

          การดำเนินงานในโครงการนี้ ITC ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดใช้งานข้อมูลอินเตอร์เน็ตให้กับตัวแทนของชุมชน (ผู้ที่มีความรู้ และอ่านออกเขียนได้) เพื่อสื่อสารกับเพื่อนบ้านในชุมชนให้กว้างขวางออกไป ซึ่งได้ทำให้เกษตรกรในภาคชนบทได้มีความรู้ความเข้าใจต่อข้อมูลและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นมากขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมไปถึงได้ทำให้เกิดธุรกิจขนส่ง ที่ชุมชนได้จัดการขึ้นใหม่อีกกิจการหนึ่งเพื่อขนสินค้าไปยังท่าเรือ

          e-Choupal Model ถือเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปการจัดการตัวกลางในการรวบรวมสินค้าของบริษัทค้าพืชผลทางการเกษตรของโลก ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เครือข่ายอินเตอร์เน็ต และประสิทธิภาพของการจัดการอินเตอร์เน็ตชุมชน รวมทั้งการตัดสินใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของผู้บริหาร ITC

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

Annamalai, K & Rao, S. (2003). What works? ITC’s e-Choupal and profitable rural Transformation. The Information for Development Program, Microsoft in partnership with Columbia Business School, University of Michigan Business School, University of North Carolina Kenan-Flagler Business School.

Itcportal. (2025). E-Choupal. https://www.itcportal.com/businesses/agri-business/e-choupal.aspx

 

Related Posts

Leave a Comment