ภาพประกอบที่ 1 การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของพลเมืองที่โปร์ตูอาแลกรี
ที่มา: Participedia, n.d.
การจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ที่โปร์ตูอาแลกรี มลรัฐทางตอนใต้ของบราซิล ที่ที่มีการกล่าวขานกันว่าเมืองที่ยิ่งห่างไกลจากเมืองหลวง-Brazilia มากเท่าใด โอกาสที่จะได้รับจากรัฐ-ส่วนกลาง โดยการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ก็จะลดน้อยถอยลงไป เป็นอัตราที่ผกผันกับความหมายของระยะทางโปร์ตูอาแลกรีเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐฮิวกรังจีดูซูว มีประชากร 1.5 ล้านคน เป็นใหญ่ลำดับ 10 ของประเทศ อยู่ทางตอนใต้ของบราซิล ที่ที่มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากส่วนกลาง และการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้จ่าย และเป็นประเด็นสำคัญในทางการเมืองของท้องถิ่นมาโดยตลอด
ที่นี่ เริ่มจัดงานงบประมาณของเมืองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) โดยนำเอาขบวนการภาคประชาสังคม เข้ามาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการบริหารเมือง (Local Government) ที่มากไปกว่าการเลือกตั้งผู้บริหาร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นก็คือ การออกแบบการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการจัดทำแผนงานและงบประมาณ จัดเวที/จัดกิจกรรมเพื่อปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้นำเสนอประเด็นปัญหาและความสำคัญที่เทศบาล (เมือง) ต้องจัดการแก้ไข-บรรจุเป็นวาระความจำเป็นในการดำเนินงานหรือเป็นแผนงานพัฒนาและงบประมาณประจำปี (ปกติโดยทั่วไป เรื่องเหล่านี้จะเป็นหน้าที่ของสำนักยุทธศาสตร์หรือฝ่ายงานของเทศบาลเป็นผู้จัดทำ) กิจกรรมและโครงการที่จัดทำขึ้นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเข้ามาร่วมจัดทำด้วย เช่น งานก่อสร้าง-วิศวกร งานสาธารสุข-นายแพทย์หรือนักการสาธารณสุข งานคมนาคม-วิศวกรด้านจราจรและผังเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักบัญชีสำหรับการคำนวณงบประมาณ ฯลฯ แล้วนำเสนอเป็น Proposals ต่อที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนเสียง (การดำเนินงานยังให้มีการเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมไปเป็นตัวแทนของประชาชนในการกำกับงานควบคู่ไปกับบทบาทของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของเทศบาลอีกทางหนึ่งด้วย) เมื่อโครงการที่ริเริ่มได้รับการโหวตคะแนน และการจัดเรียงลำดับความสำคัญแล้ว ผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำเสนอโครงการนั้น ๆ ต่อเทศบาล เพื่อนำเสนอต่อการประชุมอนุมัติงบประมาณของสภาของเมือง อันเป็นการเพิ่มบทบาทของขบวนการภาคประชาสังคม/ภาคพลเมือง เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาล (ส่วนราชการ) และนักการเมือง ผู้แทนของประชาชนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนตามระบบประชาธิปไตย ความสำเร็จของการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนกับรัฐบาลท้องถิ่นที่โปร์ตูอาแลกรีได้เป็นตัวอย่างให้กับการบริหารท้องถิ่นในเมืองต่าง ๆ ของบราซิล ประเทศในย่านอเมริกากลาง เช่น โดมินิกัน โบลิเวีย กัวเตมาลา นิคารากัว และเปรู รวมทั้งเป็น Model ที่ถูกนำไปใช้ในยุโรป และแอฟริกา (Souza, 2001)
ภาพประกอบที่ 2 การมีส่วนร่วมของพลเมือง 3 รูปแบบ
ที่มา: ปรับปรุงจาก Souza, 2001
Lesson-learned
Participatory Budgeting เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนงานตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการเคลื่อนไหวเชิงประสิทธิภาพของการเมืองภาคพลเมือง ที่นำเอากระบวนการรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) มาประกอบการใช้งานร่วมกับการบริหารราชการปกติของเมือง (ที่มีกลไกของส่วนส่วนราชการ-เจ้าหน้าที่ และภาคส่วนทางการเมือง คือ มีสมาชิกผู้แทนของประชาชนในเทศบาลหรือเมืองแล้ว)
เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนงานไปตามระบบข้อมูล ความรู้ ความเชี่ยวชาญ การวิเคราะห์ การหารือ การแลกเปลี่ยน และการตัดสินใจร่วมกัน ที่สามารถแก้ปัญหาข้อจำกัดของงบประมาณ และความต้องการในการแก้ปัญหาของประชาชนที่มากขึ้น ๆ อย่างทวีคูณ
เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568
Reference
Participedia. (n.d.). METHOD: Participatory Budgeting. https://participedia.net/method/participatory-budgeting
Souza, C. (2001). Participatory budgeting in Brazilian cities: limits and possibilities in building democratic institutions. Environment & Urbanization, 13 (1): 159-184. https://repositorio.ufba.br/bitstream/ri/15419/1/Celina%20Souza.pdf