กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 ตราสัญลักษณ์ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
ที่มา: facebook, 2565.

 

ความเป็นมา

          กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ก่อตั้งขึ้นระหว่างใน ปี พ.ศ. 2539-2540 จากผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและเดือดร้อนในเรื่องของการเงินเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการแก้ปัญหาการกู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบ หรือพ่อค้าคนกลางที่ขูดรีดราคาสินค้าเกินจริง ด้วยการศึกษาการดำเนินงานกลุ่มการออมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรของครูชุบ ยอดแก้ว ที่จังหวัดสงขลา และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จังหวัดตราดของพระอาจารย์ สุบิน ปณีโต แล้วประยุกต์เป็นแนวทางในการออมและกู้ยืมเงินออมในหมู่สมาชิกของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี คณะทำงานของพระสงฆ์และสามเณรที่มีพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (พระอาจารย์มนัส ขันติธรรมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง) เป็นผู้นำ มีการดำเนินงานตามแนวทางการมีส่วนร่วมของสมาชิกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าชี้นำ และสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล สร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

          การจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี เริ่มต้นจากการประชุมที่ศาลาบ้านพลูยาง ตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 โดยใช้วัดเป็นฐาน ใน 1 วัด จะมี 1 กลุ่ม มีวัดเข้าร่วมทั้งสิ้น 125 วัด และเชิญชวนตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นเพื่อสร้างฐานกองทุน และนำดอกผลที่ได้มาเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกเมื่อเจ็บป่วยและเสียชีวิต เริ่มต้นตั้งกลุ่มมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 108 คน มีเงินออม 6,810 บาท

 

การดำเนินกิจการ

          เมื่อตั้งกลุ่มได้แล้ว แต่ละกลุ่มจะนัดหมายให้สมาชิกกลุ่มมาประชุมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการออม กู้ยืมและคืนเงินกู้เดือนละครั้ง ครั้งละครึ่งวันหรือหนึ่งวัน เพื่อให้ภารกิจไม่เป็นภาระต่อเนื่องเพราะสมาชิกทุกคนต่างมีภารกิจของตนเองและครอบครัว การทำงานส่วนรวมจึงต้องรวดเร็วให้บริการออมเงิน คืนเงินและปล่อยกู้ทั้งหมดอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ภายในวันเดียว สมาชิกกลุ่ม เป็นชาวสวน ชาวนา และการกู้ยืมเงินส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนำไปใช้ลงทุนในการทำการเกษตร หรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนในครอบครัว เมื่อรวบรวมเงินออมและการกู้ ส่งคืนได้ครบทั้งหมดแล้ว จึงจะพิจารณาให้กู้ยืมตามที่มีรายชื่อของผู้ยื่นกู้รายใหม่ หากจำนวนเงินที่รวบรวมได้ไม่พอกับจำนวนที่ขอกู้ยืม จะเชิญสมาชิกที่ยื่นกู้มาพูดคุยถึงความจำเป็นของแต่ละคนและให้ตกลงกันเองว่าสมาชิกรายใดอาจขอลดจำนวนเงินกู้หรือจะเลื่อนไปกู้เดือนถัดไป แต่ถ้าหากผู้กู้ทุกคนมีความจำเป็น ไม่สามารถผ่อนปรนหรือเลื่อนการกู้ได้ กรรมการจะประสานไปยังกลุ่มสัจจะฯ กลุ่มวัดอื่น ๆ เพื่อขอยืมเงินกู้ข้ามกลุ่มให้

          การออมของสมาชิกทุกคน ต้องฝึกสัจจะและมีวินัยการออมเงินอย่างน้อย 20 บาท สูงสุด 100 บาท ต่อเดือน การออมเงินต้องมีการออมเงินอย่างสม่ำเสมอ และมีการได้รับสวัสดิการร่วมกันมีความเท่าเทียมกัน แต่ในระเบียบการออมและการกู้ยืมคนในครอบครัวใดเป็นสมาชิก 1-3 คน กู้ได้ไม่เกิน 1 บัญชี และครอบครัวใดเป็นสมาชิก 4-6 คน กู้ได้ไม่เกิน 2 บัญชี ส่วนในเกณฑ์การปล่อยกู้ให้กับสมาชิก การกู้เงิน ต้องดูเงินออมจากเดือนนั้นที่เก็บ เช่น ถ้าได้เงินออม 100,000 บาท มีคนกู้อยู่ 5 คนก็ต้องหารคนละเท่า ๆ กัน และต้องมีคนค้ำประกัน 2 คน ต่อ 1 คนกู้ ส่วนในกิจกรรมของกลุ่มมีอยู่ 2 ประเภท คือ การกู้ยืมของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เป็นการกู้ยืมของสมาชิกเพื่อไปลงทุนหรือใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต และต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 2.0

          กลุ่มจะมีการพิจารณาร่วมกันกับสวัสดิการแบบให้เปล่าแก่สมาชิกสวัสดิการแรกเกิดให้กับสมาชิกที่คลอดบุตรกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เพื่อเป็นขวัญถุงสำหรับเด็กแรกเกิด เป็นจำนวนเงิน 500 บาท เพื่อเป็นหลักประกันให้เด็กได้รับสิทธิ์ในการเป็นสมาชิกของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์โดยปริยาย กลุ่มมีบริการสวัสดิการสมาชิกตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเป็นผู้สูงอายุ มีธุรกิจชุมชน เช่น การจัดจำหน่ายสินค้าจำเป็นในการครองชีพและประกอบอาชีพ (ร้านค้าชุมชนสัจจะสะสมทรัพย์วัดแสลง กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดโป่งแรด) มีการรวบรวมเงินจากการบริจาคของกลุ่มต่าง ๆ และจากบุคคลภายนอกจากการสัมมนา ศึกษาดูงาน ฯลฯ มีการจัดตั้งกองทุนจุลินทรีย์เพื่อการพัฒนาเกษตรยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตที่ไร้สารพิษ และมีสมาชิกจำนวน 90 กลุ่มไปขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ พ.ศ. 2543

 

ผลความสำเร็จ

          การดำเนินงานของกลุ่มนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึง ปี พ.ศ. 2562 ได้มีสมาชิกผู้ร่วมดำเนินงาน 106,021 คน และมีเงินทุนหมุนเวียนรองรับการบริการกู้ยืม ทั้งปี 2,419,573,000 บาท หรือคิดเฉลี่ย 1,901.80 บาท/เดือน/คน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2562) อันเป็นการสร้างการไหลเวียนทางการเงินสำหรับระบบเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ

 

Lesson-learned

          กรณีศึกษากลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการชุมชนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งองค์กรที่กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด การริเริ่มโดยผู้นำชุมชนที่เป็นพระสงฆ์และการเชื่อมโยงกับบริบททางศาสนา การบริการงานสวัสดิการ การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการออม การกู้ยืมและการชำระคืนซึ่งเป็นเรื่องวินัยทางการเงิน การสร้างอาชีพ และการครองตนที่เหมาะสม

          Key success factors ของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี คือ การรวมตัวกันบนพื้นฐานของความเกื้อกูลและความรู้ความเข้าใจที่มีต่อกระบวนการรวมกลุ่ม การนำเอาทุนทางสังคม (Social Capital) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานองค์กร และความสม่ำเสมอของการปฏิบัติการตามแนวทางและการกำกับดูแลซึ่งกันและกัน ตามวิถีของการจัดการความสัมพันธ์ของชุมชน (Community Relations Trajectory)

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

สุนทร คุณชัยมัง, ธัชกร ธิติลักษณ์, นัชชา เทียมพิทักษ์, และ ฉัตรวัญ องคสิงห. (2566). การศึกษาเรื่องปัจจัย และกลไกการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทย, หน้า 25-26. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (2562). กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ร่วมประชุมใหญ่ประจำปี 2562 และร่วมฉลองในโอกาสครบ 24 ปี. https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG191222114152566

Facebook. (28 กันยายน 2565). กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ Photo. https://www.facebook.com/photo/?fbid=178094534738904&set=a.178094501405574

Related Posts

Leave a Comment