วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

by sirdi
0 comments

 

ภาพประกอบที่ 1 เครื่องหมายการค้า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ที่มา: Facebook, 2565

 

          วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) เป็นองค์กรชุมชนที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลดู่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีสมาชิกแรกตั้ง 74 คน ระดมเงินทุนตั้งต้นเป็นกองทุนได้ 608,000 บาท เป็นองค์กรที่พัฒนาตนเองมาจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์เปลี่ยนระบบการทำนาเคมีเป็นนาอินทรีย์และมุ่งพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) มีสมาชิก 662 ราย เป็นสมาชิกร่วมเครือข่ายการทำนาอินทรีย์ โดยมีพื้นที่รวมกัน 15,564 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 22 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในอำเภอราศีไศล และอำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ และมีลูกจ้างในองค์กรที่มีเงินเดือนประจำ 30 คน ซึ่งเป็นลูกของสมาชิกวิสาหกิจ มีวุฒิ ป.ตรี- ป.เอก) (บุญมี สุระโคตร, 2567.)

          การบริหารจัดการงานของวิสาหกิจชุมชนนี้ เป็นไปตามการรวมกลุ่มเกษตรกร การทำนาแบบอินทรีย์การทำนาและผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานและความต้องการทางการตลาด พร้อมกับนำเอาความสัมพันธ์ของการดูแลกันและกันของความเป็นญาติ พี่ น้อง และเพื่อนบ้านในชุมชนมาร่วมใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับการผลิตของชาวนาสมาชิกที่เป็นผู้ปลูกข้าว เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับวิสาหกิจไปจำหน่ายในระบบเศรษฐกิจตลาดและการค้าขาย นอกจากจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามโครงสร้างทั่วไปแล้ว ในระบบการทำนาอินทรีย์ ก็จะมีกระบวนการที่รองรับการทำงานตามเงื่อนไขความเป็นมาตรฐานที่วิสาหกิจต้องดำเนินงาน เช่น จัดให้มีหัวหน้าหน่วย 1 คนดูแลสมาชิกจำนวน 10-12 ราย ประสานข้อมูล ความรู้ และความร่วมมือกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในขณะเดียวกัน ก็ประสานงานกับบริษัท ไบโออะกริเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและคู่ค้าสำหรับตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มทักษะการผลิตและการค้าขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนางานตามเงื่อนไขการรับรองมาตรฐาน เช่น GI, Organic Thailand, IFOAM, USDA-FLO ID 27806 ของ FAIRETRADE, EU-NOP, มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และ มาตรฐาน OTOP

          สำหรับการจัดการตลาด วิสาหกิจชุมชน จะรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก และสีเป็นข้าวสารเพื่อส่งมอบเป็นผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานให้กับผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีสัดส่วนระหว่าง ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 70 ของปริมาณข้าว การสีข้าวของวิสาหกิจจะมีทั้งสีด้วยโรงสีของวิสาหกิจ และโรงสีของเครือข่ายโรงสีที่ได้รับมาตรฐานอินทรีย์เหมือนกัน ซึ่งมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวอินทรีย์เป็นระบบงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย การดูแลสมาชิกชาวนาในเครือข่าย ยังมีกิจกรรมสนับสนุนอื่น ๆ เช่นการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจพืชหลังนา กลุ่มวิสาหกิจเครื่องจักรกล การรวมกลุ่มเพื่อจัดสวัสดิการและการประกันความเสี่ยงจากผลิตผลทางการเกษตร การจัดทำกองทุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย การผลิตน้ำดื่มชุมชน ฯลฯ

ภาพประกอบที่ 2 การบริหารจัดการงานของวิสาหกิจชุมชนบ้านอุ่มแสง
ที่มา: สุนทร คุณชัยมัง, 2566

 

           การค้าขายกับต่างประเทศข้างต้น (ที่มีสัดส่วนการตลาด มากถึงร้อยละ 70 ข้างต้น) ทำให้การดำเนินงานของวิสาหกิจและการผลิตของสมาชิกชาวนาในเครือข่ายเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด เป็นห่วงโซ่เดียวกันไปตามเงื่อนไขการตลาด การส่งมอบ การทำได้มาตรฐานและกระบวนการซื้อขาย จะเกิดขึ้นก่อนการฤดูการผลิตหรือที่รู้จักกันว่าเป็นการซื้อขายแบบตลาดล่วงหน้า ดังนั้น จึงนับได้ว่า การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ได้สร้างกระบวนการผลิต และตลาดที่ต่างไปจากการผลิตแบบชาวนารายย่อยทั่วไป ต่างไปจากการทำนาแบบเคมี ต่างไปจากการทำนาเพื่อผลิตข้าว และขายข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ แล้ววางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ในระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 วิสาหกิจนี้มีรายได้จากการประกอบการ 124 ล้านบาท/ปี เปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ที่มีรายได้เพียง 55 ล้านบาท ก็นับได้ว่ามีการขยายตัวมากถึง ร้อยละ 125 (สุนทร คุณชัยมัง และคณะ, 2566)

ภาพประกอบที่ 3 การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนบ้านอุ่มแสง
ที่มา: สุนทร คุณชัยมัง, 2566

 

Lesson-learned

          ดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสงที่สร้างรายได้ต่อปีได้มากถึง 124 ล้านบาทข้างต้น ไม่ได้เป็นรายได้ที่แสดงถึงผลลัพธ์เฉพาะแต่เพียงสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงรายได้ที่เกิดขึ้นจากการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ เป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยผลงานของเกษตรกร-ชาวนา เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นด้วยผลงานมาตรฐานการทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการ “ประกอบการ” (Entrepreneurship) ไม่ใช่จากการช่วยเหลือหรือเป็นโครงการ CSR ของหน่วยงานใดและการแก้ปัญหาราคาข้าวของรัฐบาล

 

เรียบเรียงโดย
ดร.สุนทร คุณชัยมัง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
พฤษภาคม 2568

 

Reference

บุญมี สุระโคตร. (24 ธันวาคม 2567). บทเรียนวิสาหกิจชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคมด้านข้าวอินทรีย์. ใน วิฑูรย์ ปัญญากุล (ประธาน), ข้อเสนอเชิงนโยบายการยกระดับรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร [เอกสารนำเสนอ]. เวทีสาธารณะ “โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม/วิสาหกิจเพื่อสังคม, นนทบุรี, ประเทศไทย.

สุนทร คุณชัยมัง. (2566). วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ. ใน 7 กลุ่มชุมชน พ้นจน ยั่งยืน ข้อค้นพบใหม่การแก้จนลดเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (น. 56-59). กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท.

Facebook. (20 สิงหาคม 2565). วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มเเสง รูป. https://www.facebook.com/photo/?fbid=431118832374401&set=a.431118792374405

Related Posts

Leave a Comment